สังคม

ไขข้อกฎหมาย! 'ทนายเกิดผล' ชี้กรรมสิทธิ์ลอตเตอรี่เป็นของลูกค้า เตรียมพาไปอายัดสลากพุธนี้

โดย chutikan_o

3 ต.ค. 2566

445 views

'ทนายเกิดผล' ไขข้อกฎหมาย ยืนยันกรรมสิทธิ์ลอตเตอรี่เป็นของลูกค้าเสียหาย เตรียมพา นายสมเกียรติ คนซื้อสลาก เข้าอายัดลอตเตอรี่ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพรุ่งนี้

ทนายเกิดผล แก้วเกิด เปิดเผยกับทีมข่าวทางโทรศัพท์ว่า วันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) จะแต่งตั้งทนายความ เพื่อไปแจ้งขออายัดลอตเตอรี่ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะวันนี้เขายังติดว่าความอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

แต่ยืนยันว่าหากพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว กรณีนี้ยืนยันได้ว่า กรรมสิทธิ์ของลอตเตอรี่ ต้องเป็นของผู้เสียหาย โดยมีข้อกฎหมายที่ระบุตรงตัวชัดเจนว่า "ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายกัน ถ้าคำเสนอของผู้ซื้อและคำสนองของผู้ขายตรงกัน ก็จะก่อให้เกิดสัญญา เมื่อเกิดสัญญาสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย กรรมสิทธิ์ของลอตเตอรี่ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่มีการทำสัญญาซื้อขาย ส่วนเรื่องการส่งมอบเงินไปอีกเรื่อง คนละส่วนกับกรรมสิทธิ์โอน"

เมื่อกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อก็มีสิทธิจะต้องได้รับเงิน 30 ล้านบาท ผู้ขายจะอ้างว่ายังไม่ชำระเงินไม่ได้ เพราะตกลงกันว่าเก็บเงินปลายทาง แต่ผู้ขายกลับไม่ได้ไปส่งลอตเตอรี่ให้ การเก็บเงินปลายทางก็เกิดขึ้นไม่ได้

หากดูจากแชทข้อความที่คุยกัน ข้อความที่ทำให้เกิดสัญญาการซื้อขายโดยสมบูรณ์ ก็คือตอนที่ผู้ขายสรุปรายละเอียดลอตเตอรี่ ยอดเงิน และถามว่ารับไหม ผู้ซื้อก็ตอบว่ารับ พร้อมกับให้ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ สำหรับการจัดส่งลอตเตอรี่และเก็บเงินปลายทางไปให้

ส่วนที่ผู้ขายอ้างว่า "โทรไม่ติด" เป็นการกล่าวอ้างของร้าน ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้ลองโทรติดต่อมาจริงไหม และผู้เสียหายยืนยันว่าไม่ได้โทรเข้ามา อีกทั้งการถาม ก็เป็นแค่การถามว่า "เบอร์ติดต่อได้ไหม" แต่ไม่ใช่การพิมพ์ยืนยันว่า "ติดต่อไม่ได้ ขอยกเลิก" ซึ่งถ้าไม่มีฝ่ายใดบอกยกเลิก ถือว่าสัญญายังสมบูรณ์ โดยแชทก็ยังคุยกันได้อยู่ หากติดต่อไม่ได้จริงทำไมไม่พูด ไม่แจ้งเข้ามาทางแชทว่าขอยกเลิก

สำหรับกรณีที่สังคมโซเชียลมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมผู้ซื้อไม่ทวงถามหาลอตเตอรี่ตั้งแต่ก่อนประกาศรางวัล และหากลอตเตอรี่ชุดนี้ ไม่ถูกรางวัลจะยังทวงถามและจ่ายเงินรับของอยู่หรือไม่ ทนายเกิดผล กล่าวว่า ข้อนี้เป็นเรื่องที่สังคมสามารถตั้งข้อสงสัยได้ ไม่แปลก แต่เวลาที่เราสั่งซื้อของ หากเรามั่นใจว่าเป็นของเราแล้ว การจะทวงถาม จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะตามข้อกฎหมาย กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อแล้ว

ทนายเกิดผล กล่าวอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการที่ผู้ขาย "ผิดสัญญาทางแพ่ง" ซึ่งต้องมีการไปฟ้องร้องต่อศาลตามมูลค่าลอตเตอรี่คือ 30 ล้านบาท ส่วนอีกมุมหนึ่ง คือ การที่ผู้ขายครอบครองลอตเตอรี่ที่กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อแล้ว แต่เบียดบังไปเป็นของตัวเอง หรือนำไปขายให้ผู้อื่น ก็อาจเข้าข่ายความผิดอาญาฐาน "ยักยอกทรัพย์" ได้ ซึ่งผู้เสียหายก็ต้องไปแจ้งความดำเนินคดี

ที่สำคัญหากมีคนนำลอตเตอรี่ไปขึ้นเงินแล้ว ทางร้านก็ต้องรับผิดชอบชดใช้เงิน 30 ล้านบาทให้ผู้เสียหาย แต่หากยังไม่ได้ขึ้นเงิน และอายัดลอตเตอรี่ไว้ทัน ก็จะต้องอายัดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าระหว่างผู้ซื้อคนเก่ากับผู้ซื้อคนใหม่ ใครเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์

ขณะที่นาย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากพิจารณาเบื้องต้นเฉพาะจากข้อมูลที่ปรากฎในข่าว ก็ถือว่าการตกลงซื้อขายสำเร็จแล้ว ตามหลักคำเสนอและคำสนองตรงกัน โดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่าจะซื้อขายแบบจ่ายเงินปลายทาง และผู้ซื้อมีการแจ้งที่อยู่สำหรับส่งลอตเตอรี่แล้ว เท่ากับแสดงเจตนาแล้วว่าให้ผู้ขายส่งลอตเตอรี่มา ถ้าจะไม่รับ ก็คงไม่แจ้งที่อยู่ไป ดังนั้น กรรมสิทธิ์ก็จะตกเป็นของผู้ซื้อแล้ว

แต่ในการพิจารณาของศาล จะต้องดูรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะทุกการกระทำของทั้ง 2 ฝ่าย มีผลต่อการพิจารณาว่านิติกรรมสมบูรณ์หรือไม่ แนะนำว่าอยากให้ผู้เสียหาย มาขอคำปรึกษากับอัยการคุ้มครองสิทธิ ที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนก่อน เพราะจะช่วยแนะนำเรื่องข้อกฎหมาย ว่าจากรายละเอียดทั้งหมด ใครจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ลอตเตอรี่ และไกล่เกลี่ยขั้นต้นก่อน หากตกลงกันไม่ได้ จึงจะไปเข้าสู่ขั้นตอนของการใช้สิทธิทางศาลต่อไป


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/lceHUrfRnnU

คุณอาจสนใจ

Related News