สังคม

ศธ.360 องศา โครงการ อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Smart​ Intensive Farming

โดย passamon_a

29 ม.ค. 2565

188 views

กระทรวงศึกษาธิการ ออกแบบโมเดลการเรียนรู้หลักสูตรใหม่ ชื่อว่าโครงการ อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน บูรณาการรายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ กับการเกษตร


กระทรวงศึกษาธิการ ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ ชื่อว่า โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน เน้นการสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่า เพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้นักเรียนเกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติ นำประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้ริเริ่มโครงการ อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน หรือ Science Technology Innovation ตัวย่อคือ STI : Smart Intensive Farming หลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนบูรณาการผ่านรายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "อยากจะพูดคำย่อที่เป็นภาษาอังกฤษ ที่เขาเรียกว่า science technology innovation ชื่อย่อ 3 ตัว ก็คือ STI สำหรับคนไทยดิฉันอยากจะให้พวกเราถือว่า STI คือ สติ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีสติ เราก็สามารถจะใช้วิทยาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยในการประกอบวิชาชีพต่าง ๆ "


ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า "ในนามของ สพฐ. เรามีหน้าที่นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ เรามองว่าการที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบูรณาการกับบริบทของชุมชนนั้น ๆ เราจะต้องทำหน่วยงานเรียน มีกระบวนการตั้งแต่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย รวมทั้ง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดประเมินผล ให้เชื่อมโยงได้เห็นตลอดแนว"


สพฐ. ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบการเรียนรู้ของโครงการ ประกอบด้วย 5 ระยะ โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถขยายผลไปสู่ชุมชน


ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ. สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. กล่าวว่า "5 ระยะ หรือที่เราเรียกว่าตามรูปแบบของ ACIDS A ก็คือ Area based research เป็นการศึกษาทางด้านภูมิสังคมของพื้นที่บริบทที่เราจะทำการเกษตร ขั้นตอนระยะที่ 2 เราเรียกว่า Coding for Farm นำข้อมูลทั้งหมดมาวางแผนโดยใช้ Coding ขั้นตอนที่ 3 Implementation ของเรา จากการวางแผนในขั้นตอนที่ 2 สู่การปฏิบัติ ขั้นตอนที่ 4 การ Development เอาข้อมูลจากขั้นตอนที่ 3 ทั้งหมดมาปรับปรุงแก้ไข และวางแผน ขั้นตอนสุดท้าย Sharing แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเราอยากขยายผลเข้าไปสู่ชุมชน ผู้ปกครอง ให้ได้มากที่สุด"


ปัจจุบัน โครงการ อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน มีสถานศึกษานำร่องจำนวน 6 แห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่และอยู่บนพื้นที่สูง เด็กนักเรียนมุ่งมั่นเรียนรู้แนวคิดต่าง ๆ นำความรู้ที่ได้เชื่อมโยงประยุกต์ร่วมกับการเกษตรเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ต่อยอดสร้างรายได้ในครอบครัว สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Ecax-XXSTNI

คุณอาจสนใจ

Related News