สังคม

แห่วิจารณ์บูรณะโบสถ์ 200 ปี ทาสีชมพูทั้งหลัง กรมศิลป์เข้าตรวจสอบยันเสียหายประเมินไม่ได้

โดย

22 มิ.ย. 2563

108.8K views

จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก “ชัยภูมิเมืองต้องห้ามพลาด” ได้โพสต์ภาพเปรียบเทียบโบสถ์หลังเก่า อายุร่วม 100 ปี สภาพเดิม เปรียบเทียบกับภาพโบสถ์สภาพปัจจุบันที่ผ่านการบุรณะแล้วซึ่งกลายเป็นโบสถ์สีชมพูหวานแวว ของวัดแห่งหนึ่งที่บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ พร้อมข้อความ ระบุว่า “ #ส้มหยุดมั้ยล่ะสีชมพูมาเลย #คุณคิดว่ามันเข้ากันไหม ?? โบสถ์เก่า (สิม) อายุร่วม 100 ปี ลวดลาย รูปเหลี่ยม มุมโค้ง หายหมด ตั้งอยู่ที่บ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เห็นแล้วรู้สึกเสียดายโบราณวัตถุ อายุน่าจะร่วม100ปี อยากให้ผู้มีความรู้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมาดูแลด้วยครับ”
โดยหลังจากโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลมีเดีย เข้ามาแสดงความเห็นและแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการบุรณะโบสถ์เก่าแก่อายุร่วม 100 ปี พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแก้ปัญหาโดยด่วน เช่น คิดได้งัย , ทำไปได้, เสียดายมาก ของเก่าควรอนุรักษ์ไว้ดูชั่วลูกชั่วหลาน , เศร้าใจเจ้าอาวาสทำไมไม่ศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงามไว้ , เศร้าใจจริงๆแล้วจะเหลือมรดกทางวัฒนธรรมที่งามให้ลูกหลานดูไหม? , เลวร้ายมากใครกล้าคิด พระเป็นอะไรถึงไปทาสีชมพูขนาดนี้, เลวร้ายด้านจิตใจมาก , ดั้งเดิม ซ่อมแซมไม่ควรแต่งเติม อนุรักษ์แบบเดิมๆ จะคลาสสิก ทรงคุณค่า , เสียดายของเดิมมาก ถึงจะเก่าก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อยากได้ใหม่ก็น่าจะสร้างใหม่เลย
แย่จังเลยความเก่าแก่โบราณ เราน่าจะอนุรักษ์ไว้ ไม่น่าไปเปลี่ยนแปลง , ทำไมไม่ให้กรมศิลปากรเขาเข้ามาตรวจสอบและบูรณะ 100 ปี นี้ถือเป็นมรดกชาติแล้ว , เสียดายอายุตั้ง 100 ปีน่าจะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม, มันฟรุ่งฟริ้งไปมั้ย แบบเดิมโทรมๆยังดูน่าเลื่อมใสกว่า , หมดคำสิเว้า , ยิ่งกว่าส้มหยุดอีก ส้มหยุดบนผนัง ยังรับได้ แต่สีชมพูนี่ ข่อยรับบ่ได้เลย ชมพูโพด บ่แม่นรีสอทตามต่างจังหวัดเด้อ, ขอโทษนะครับผมเป็นสถาปนิก ระดับสามัญอาศัยอยู่ที่อำเภอภูเขียวเห็นแล้วเศร้าใจมากเห็นแบบนี้ในฐานะสถาปนิกรู้สึกเสียดายจริงๆ เป็นต้น
วันนี้ทีมข่าวได้เดินทางไปยังวัดบ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่เพจดังได้โพสต์ไว้ ภายในบริเวณวัดแจ้ง บ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลังจากเดินผ่านประตูใหญ่กำแพงวัด จะพบโบสถ์สีชมพูที่ตกเป็นข่าวดังตั้งตระหง่าน อย่างโดดเด่น เป็นโบสถ์ขนาดความกว้าง 3.30 เมตร ยาว 7.70เมตร และสูง 3.30เมตร ไม่รวมหลังคา หลังคามุงด้วยสังกระสีเก่าๆขึ้นสนิม ประตูเข้าโบสถ์เป็นประตูไม้เก่าๆแบบสองบานประกบเมื่อทำการปิดประตู ที่สดุดตาที่สุดคือโบสถ์ ทาสีด้วยสีชมพู ตลอดทั้งหลัง ภายในมีพระประธานขนาดหน้าตัก1.20 เมตร ความสูง 1.70 เมตร ปางค์สมาธิ แบบปูนปั้นมีการทาทับด้วยสีขาวบางส่วน หลังคาภายในโบสถ์ ฝ้าเพดานยังคงสภาพไม้เก่าเหมือนเดิม ซึ่งอยู่ในสภาพผุพัง จนมองทะลุหลังคาสังกะสี
ระครูสุธรรมโคตร ฐิตธรรมโม เจ้าอาวาสวัดแจ้ง เล่าว่าตนเป็นคนเกิดที่หมู่บ้านนี้ และบวชเรียนจนเป็นเจ้าอาวาสวัดแจ้ง เห็นโบสถ์หลังนี้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อยู่ในสภาพ ไม่แตกต่างจากปัจจุบันนี้เท่าใดนัก โดยโบสถ์หลังนี้มีอายุกว่า 200ปี จะใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา มาโดยตลอด ต่อมาปรากฏว่าสภาพโบสถ์ทรุดโทรมอย่างหนัก จึงทำการปิดการใช้งาน และไปใช้โบสถ์หลังใหม่แทน ตนเห็นว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้นานหลายปีเข้าโบสถ์นี้อาจชำรุดมากกว่านี้ จึงได้ประชุมคณะกรรมการวัดและทำเรื่องขอสนับสนุนงบประมาณ ในการซ่อมแซม จากสำนักพุทธศาสนาจังหวัดชัยภูมิ และได้รับงบประมาณจำนวน 202,400บาท เพื่อนำมาทำการบรูณะซ่อมแซม
โดยได้ทำการซ่อมแซมด้วยการฉาบปูน ผนังที่ทีการกะเทาะของปูนเดิมบางส่วน ปูกระเบี้องภายในโบสถ์ และทาสีภายนอกภายในเป็นสีชมพู ตามที่เห็น ซึ่งตนไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงแค่ว่าอยากให้วัดมีสีสัน สดุดตา น่าเยี่ยมชมนั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด พร้อมที่จะทำการแก้ไข หากทางราชการเข้ามาให้คำแนะนำ เพราะตั้งแต่เริ่มดำเนินการซ่อมแซมไม่มีส่วนราชการใดเข้ามาให้คำแนะนำเลย
ขณะที่นายรัชฎ์ ศิริ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ลงตรวจสอบโบสถ์วัดแจ้ง บ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ กรณีที่โบสถ์โบราณเก่าแก่ที่สร้างมานานกว่า200ปี วัดแจ้ง ถูกวัดร่วมกับกรรมการวัด ทำการแก้ไขดัดแปลง โดยการฉาบปูนทั้งนอกและในตัวอาคาร อีกทั้งยังนำสีชมพู มาทาทับทั่วทั้งตัวอาคารด้วย
โดยการสำรวจครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจอย่างละเอียดทั้งสิ่งปลูกสร้างที่อยู่เหนือพื้นที่ดิน และที่อยู่ใต้ดิน กรณีที่ชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำดินมาถมทับไว้ จากนั้นได้เข้าสอบถามข้อมูลต่างๆ จากพระครูสุธรรมโคตร ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดแจ้ง และนายสมาน ดาวช่วย ผญบ.บ้านแก้ง เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
โดยนายรัชฎ์ กล่าวว่า โบสถวัดแจ้ง แห่งนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลปากร แต่เข้าเงื่อนไขทั้งหมด ทั้งเรื่องอายุ ประวัติความเป็นมา ซึ่งหลังจากทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ก็จะดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามระเบียบส่วนอายุของโบสถ์หลังนี้คาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 204 ปี ส่วนความเสียหายหลังจากประเมินเบี้องต้นแล้ว ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากมีความเสียเป็นจำนวนมากเฉพาะที่มองเห็นด้วยสายตา ส่วนสภาพที่ซ่อนอยู่ด้านล่างอาคารใต้ดินที่ลึกประมาณ กว่า1เมตร ต้องรอพิสูจน์ต่อไป ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่า เสียหายกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ยอมรับว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายรัชฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นได้แจ้งให้กับทางวัด และคณะกรรมการทราบว่า ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆกับโบสถ์หลังนี้โดยเด็ดขาด เพราะถ้าหากพบว่ามีการดำเนินการใดๆก่อให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ก็อาจเป็นการกระทำผิดกกหมาย ซึ่งทางกรมศิลปะจะได้ดำเนินการเร่งแก้ไข และหาทางฟื้นฟูให้เร็วที่สุดต่อไป
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/zbxjy-GDNOA

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ