สังคม

'กรมที่ดิน' โต้ 'การรถไฟ' ปม 'ที่ดินเขากระโดง' คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม 5,083 ไร่

โดย nut_p

26 ธ.ค. 2567

10 views

กรมที่ดินแถลงการณ์ยิบโต้การรถไฟ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม  5,083 ไร่  ขณะที่ แผนที่อ้างสิทธิ์รฟท. ไม่น่าเชื่อถือ   พร้อมยืนยันดำเนินการตามคำสั่งศาลครบถ้วน เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย



เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.  กรมที่ดินออกแถลงการณ์ ว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ การรถไฟฯ เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ดังนี้

1. ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ การรถไฟฯ จึงใช้ยันบุคคลภายนอกที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวรวมถึงกรมที่ดินด้วย การรถไฟฯ จึงไม่จำต้องไปใช้สิทธิฟ้องเป็นรายแปลงต่อศาลยุติธรรมแต่อย่างใด

กรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้ง ๓ คดี ครบถ้วนแล้ว มีรายละเอียดดังนี้

    1.๑ ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน     ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 35 ราย รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง 35 ราย มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร จำนวน 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค. 1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว

1.๒ ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า

    โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไข รูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว

    1.๓ ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีที่การรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ ได้แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว (มาตรา 61 วรรคแปด)

    ทั้งนี้ จากคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความในคดี คือ ที่ดินจำนวน 35 แปลง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐) น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561) และโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563) คำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่จะมีการดำเนินคดีใหม่กับบุคคล

    ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 145 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ การอ้างว่าคำพิพากษานี้เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดจึงเป็นการขยายความ เกินขอบเขตของคำพิพากษา การรถไฟฯ จึงไม่สามารถนำผลของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ไปใช้กับที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้ เนื่องจากการได้มาของที่ดินแต่ละแปลงมีความแตกต่างกัน ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงต้องมีโอกาสในการต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง



    2. ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ได้ยื่นพยานหลักฐานที่แสดงถึงการได้มาซึ่งที่ดินบริเวณเขากระโดงต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ และร่วมรังวัดที่ดินบริเวณเขากระโดงแล้ว แต่กรมที่ดินยุติเรื่องโดยไม่รอผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน

    เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ที่ดินที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตแนวทางรถไฟตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔64 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรูปแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกรมรถไฟมีหน้าที่จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตแสดงไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจดู อันเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจนของที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้น เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถแสดงหลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจน รวมถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าการรถไฟเข้าหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงที่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟฯ ได้มาระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตให้กับเจ้าของที่ดิน โดยมิได้มีการหวงห้ามหรือหวงกันที่ดินของการรถไฟฯ แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของ การรถไฟฯ

สำหรับการรังวัดของคณะทำงานร่วม ระหว่าง การรถไฟฯ และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า

    เป็นการรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทน การรถไฟฯ ตามรูปแผนที่สังเขปซึ่งจัดทำขึ้นในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยไม่มีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาตามนัยดังกล่าวข้างต้นและไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิงใด ๆ เพื่อประกอบการนำชี้

    โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทน การรถไฟฯ เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

    ทางกฎหมายอ้างอิงในการที่จะพิสูจน์ได้ว่าแนวเขตที่ได้นำชี้จัดทำรูปแผนที่สังเขปเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ชัดเจนเป็นที่ยุติได้ว่าแนวเขตที่ดินของ การรถไฟฯ อยู่บริเวณใด

    สำหรับประเด็นที่การรถไฟฯ ยืนยันว่า การรถไฟฯ มีหลักฐานแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายโคราช - อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา นั้น แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อื่นฯ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการที่พระราชบัญญัติจัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 กำหนด ซึ่งแตกต่างกับการสร้าง

ทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล พบว่ามีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางฯ  และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พร้อมทั้งมีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา

    โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๗๐ เล่มที่ ๔๔ หน้า 3๑๓ แผ่นที่ 9๕ อย่างครบถ้วน จึงเชื่อได้ว่าแผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ไม่ได้จัดทำให้เป็นไปตามกฎหมายสำหรับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรถไฟฯ จึงไม่อาจใช้แผนที่นั้นมากล่าวอ้างให้ที่ดินบริเวณเขากระโดงตกเป็นของการรถไฟฯ เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งออกให้กับประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมายได้ เนื่องจากการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย

    อนึ่ง นอกจากประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายของแผนที่ดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาฯ ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง มีรูปแบบและระยะไม่สอดคล้องตามหลักวิชาการแผนที่ เช่น

    ในแผนที่ระบุมาตราส่วน 1 : 4,000 กล่าวคือ ๑ เซนติเมตร ในรูปแผนที่ เท่ากับ ๔,๐๐๐ เซนติเมตร หรือ 40 เมตร ในพื้นที่จริง หากแนวเขตจากรางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร รูปแผนที่จะมีระยะถึงข้างละ ๒๕ เซนติเมตร แต่แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างมีระยะเพียง 2.5 เซนติเมตร เท่านั้น แผนที่ฉบับดังกล่าวจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

    3. ประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ในฐานะผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินทั้งหมด

    ประเด็นดังกล่าวศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๘๒/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖

    ให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและ

ศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ ๑๑๙๕ – ๑๑๙๖/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว

    ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยในกรณีที่การรถไฟฯ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินร่วมกัน

    เพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (อธิบดีกรมที่ดิน) มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้เป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฏดังนี้

    คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างเป็นรูปแผนที่สังเขปซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กปร. ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร    กลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ และ ที่ ๘๐๒๗/๒๕๖๑ จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและแนวเขตที่ดินของการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง ๘ กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗, พ.ศ. ๒๕๑๑, พ.ศ. ๒๕๒๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๗ ปรากฏว่า ทางรถไฟมีระยะทางประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 7๐๘     ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๐๐) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ ๖.๒ กิโลเมตร เช่นกันเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่ารับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ

    จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ



ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐาน

    ที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติไปใช้

    ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ ๑๒ ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

    การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟฯทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินสามารถไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลได้

    อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินในกรณีดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หากผลการพิจารณาเป็นประการใดจะแจ้งให้ การรถไฟฯ ทราบต่อไป

    ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามนัยดังกล่าวข้างต้น กรมที่ดินได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงคำพิพากษาศาลครบถ้วนเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

คุณอาจสนใจ

Related News