สังคม

เปิดชีวิตสีเทาในมุมมืด 'พัทยา' เรื่องราวหญิงข้ามเพศ แรงงานข้ามชาติสู่เส้นทาง 'โสเภณี'

โดย paweena_c

30 ต.ค. 2567

427 views

หญิงข้ามเพศ ‘โสเภณี’ ข้ามแดน ชีวิตในมุมมืดเมืองพัทยา
ท่ามกลางไฟแสงสี เสียงดนตรีจากสถานบันเทิง ‘พัทยา’ เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก แต่อีกมุมหนึ่งเมืองนี้กลับซ่อนเร้นเรื่องราวที่เราทราบกันดีว่ามีอยู่ แต่กลับเลี่ยงที่จะมองเห็น เรื่องราวของโสเภณีผู้ค้าบริการทางเพศ และเนื้อหาต่อจากนี้เป็นเรื่องเล่าจาก ‘โสเภณีหญิงข้ามเพศ’ ผู้ข้ามแดนมาขายเรือนร่างแลกเงินในเมือง ‘พัทยา’


โรสและพลอย หญิงข้ามเพศผู้ข้ามแดนจากกัมพูชา
โรส อายุ 22 ปี เธอสวมชุดเดรสสั้น ทาปากแดง แต่งตาสีเข้มคมเฉี่ยว โดดเด่น พูดจาฉะฉานมั่นใจ

พลอย อายุ 32 ปี สวมกระโปรงสั้น เสื้อสีขาวพอดีตัว เธอผมยาวสลวย แต่งหน้าสีอ่อนแก้มอมชมพู ท่าทีเธอเรียบร้อย มือสองข้างประสานกันวางบนหน้าตัก เธอยิ้มตลอดเวลาที่เราพูดคุยกัน

ทั้งคู่เป็นหญิงข้ามเพศชาวกัมพูชาที่ข้ามแดนมาทำงานในพัทยา ที่นี่พวกเธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น 'โสเภณี' อาชีพที่หลายคนยังมองว่า "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม" แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาชีพค้าบริการดังกล่าว ยังผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทย

“รายได้ไม่แน่นอน บางทีเกือบจะเอาตัวไม่รอด” ‘โรส’ เล่าถึงวันแรกที่มาถึงพัทยาในขณะที่เธอก็ไม่รู้จักใครเลยและเกือบเอาตัวไม่รอด เพราะความไม่รู้จักที่ทาง ไม่รู้แม้แต่วิธีการหาแขก หรือคำที่พวกเธอใช้คือ “จิกแขก” สิ่งนี้สำคัญเพราะเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการทำงาน แค่แต่งตัวสวยไม่พอ เธอเรียนรู้วิธีจิกแขกจากเพื่อนโสเภณีคนอื่น ๆ วิธีเข้าหาแขก เชื้อเชิญแขกให้ใช้บริการ พูดคุยตกลงราคากว่าจะปิดดีล เธอบอกว่าเพื่อความอยู่รอด เธอจึงต้องทำ กว่าจะปรับตัวได้ก็ต้องใช้เวลานานถึง 4-5 เดือน และตอนนี้เธอทำงานอยู่ที่พัทยามาปีกว่าแล้ว

‘พลอย’ เธอยิ้มก่อนพูดว่า “หนูกลัว” เธอยอมรับว่าครั้งแรกที่ต้องออกไปนอนกับแขกเธอสั่นไปทั้งตัว ไม่ใช่ตื่นเต้นหรือดีใจ แต่กลับกัน เธอกลัวจนตัวสั่น เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องทำอะไร ลูกค้าจะทำร้ายไหม

“หนูก็กลัว” โรสแทรกเสียงเข้ามา “ไม่รู้เขาเป็นยังไง ไม่รู้เขาจะทําอะไร เราไม่รู้ใจเขา” เธอกล่าว


เส้นทางชีวิตโสเภณี ทำงานในเงามืด ส่งเงินกลับบ้านเลี้ยงครอบครัว
“เมื่อก่อนหนูทํางานเป็นเสมียนในกรุงเทพฯ ตอนนั้นมีเพื่อนที่เคยทำงานอยู่พัทยา หนูเห็นเขามี เห็นเขาได้ หนูก็อยากมีอยากให้ครอบครัวสบายบ้าง”

'โรส' เล่าถึงอดีตของเธอ เธอมีครอบครัวที่กัมพูชา แม่เธออายุ 58 ปี ส่วนน้องชายอายุ 15 ปี เธอเป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อหาเงินมาได้จะมากจะน้อยก็ต้องแบ่งส่งกลับไปให้ที่บ้าน

โรสอยู่ไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นถ้าเทียบกับอายุปัจจุบันของเธอที่ 22 ปี หมายความว่าเธอเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 12 ปี

เด็กกัมพูชา อายุ 12 ข้ามแดนเข้าไทยมาหวังอยากมีอนาคตที่ดีกว่า เราไม่ได้พูดถึงเรื่องการศึกษา เธอเข้ามาทำงานหาเงิน อาชีพแรกที่ทำมาตลอดคือเสมียนในไซต์ก่อสร้างใจกลางกรุงเทพมหานคร งานก่อสร้างแบกหามรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็ต้องแบ่งส่งให้ครอบครัว โควิดที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่แสนยากลำบาก ทำงานไม่ได้ค่าแรงไม่มี ชีวิตถูกขังในแคมป์ห้ามออกไปไหน ดีหน่อยที่นายจ้างให้คนมาส่งข้าวส่งน้ำ ส่วนเรื่องค่าเยียวยาไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยได้และไม่เคยมี

โรสทำงานก่อสร้างมีรายได้วันละ 350 บาท เฉลี่ยหนึ่งเดือนได้อยู่ที่ 7,000 บาท ส่งให้แม่ให้ครอบครัวใช้ 3 - 4 พัน ที่เหลือตัวเองเก็บไว้ใช้ ส่วนจะเหลือเก็บไหมก็เป็นอีกเรื่อง

โรสตัดสินใจก้าวออกมาจากไซต์ก่อสร้าง ทิ้งงานแบกหามหอบหิ้วชีวิตมุ่งสู่พัทยาหวังตายดาบหน้า ลำพังความอยากได้อยากมีของเธอเพียงคนเดียวคงไม่หนักแน่นพอจะพาชีวิตออกมาเสี่ยง ครอบครัวที่กัมพูชาของเธอเป็นอีกส่วนสำคัญ ความหวังที่อยากให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เธอตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่พัทยาด้วยอาชีพโสเภณี “ตั้งแต่หนูมาอยู่จุดนี้ ก็หาเงินได้เร็วขึ้น” โรสกล่าว

'พลอย' เธอเป็นเสาหลักของครอบครัวเช่นกัน เธอทำงานหาเงินส่งกลับบ้านที่กัมพูชา ที่บ้าน พ่อ แม่ พี่ และน้อง ทั้ง 4 คนมีอาชีพทำนา แต่พลอยไม่ได้อยากทำนา เธอบอกอย่างนั้น จึงเป็นสาเหตุที่เธอเดินทางเข้าไทย เริ่มจากขายขนมปัง ขายพิซซ่า ก่อนเปลี่ยนงานตามคำชวนของเพื่อน เป็นโสเภณีขายบริการย่านสุขุมวิท บ้างสีลม แต่ไม่ได้อยู่ถาวร เธอข้ามไปมาระหว่างไทย-กัมพูชาอยู่นานกว่า 5 - 6 ปี สุดท้ายเธอพบกับจุดหมายแห่งใหม่ ‘พัทยา’

พลอยเพิ่งทำงานที่พัทยาได้ 5 เดือน ที่นี่เธอไร้สังกัด ไม่มีร้านประจำให้ต้องนั่ง ตลอดแนวชายหาดทอดยาวเธอสามารถยืนจิกแขกได้ทุกที่ทุกมุม ไม่มีแบ่งเขตแดนหรือทับที่ใครให้ต้องกังวลเหมือนในกรุงเทพฯ พลอยบอกว่าการทำงานขายบริการ ที่กรุงเทพฯ กับที่พัทยา มีข้อดีคนละแบบ แต่เธอรู้สึกชอบพัทยามากกว่า เพราะที่นี่ทำเธอรู้สึกอิสระกว่า


เหรียญย่อมมีสองด้าน อาชีพขายบริการหาเงินได้เร็ว แต่ใช่ว่าจะง่าย
โรสและพลอย เธอทั้งคู่ใช้ร่างกายแลกเงิน รายได้จากการทำงานโสเภณีอยู่ที่วันละ 1,000 - 2,000 บาท แต่ใช่ว่าจะได้เงินประจำทุกวัน บางครั้งแต่งตัวสะสวยยืนรอแขก อดนอนทั้งคืนไม่ได้ลูกค้าเลยก็มี บางครั้งฟลุ๊กเจอคนดีหน่อยก็ได้เงินเยอะ ครั้งหนึ่งโรสเจอลูกค้าวัยรุ่นชาวต่างชาติ ครั้งนั้นได้เงินเยอะที่สุด 7,000 บาท แต่บางครั้งก็แย่ ทำงานแต่โดนลูกค้าหลอก ทำงานเต็มที่แต่เงินไม่ได้เลยก็มี

“วันละ 2 คนก็เหนื่อยแล้ว มันไม่ไหว เราทำงานตั้งใจเต็มที่” โรสพูด พลอยพยักหน้ารับ

โรส เล่าประสบการณ์ครั้งที่เธอตบหน้าลูกค้า เพราะถูกเบี้ยวไม่จ่ายเงินค่าตัว เธอเล่าว่าครั้งนั้นเธอออกไปกับลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งก่อนออกก็ได้คุยตกลงราคากันแล้วที่ 1,000 บาท

“เราเทคแคร์เขาดีมาก เอฟเวรีติงทุกอย่าง กระเป๋าตงกระเป๋าตังค์เราไม่เคยคิดจะขโมยเลย เราใช้ความรู้สึกทำงาน แต่เขาทําไม่ดีกับเรา”

ครั้งนั้นลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงินหลังใช้บริการตามที่ตกลง แต่ขอจ่ายแค่ 500 บาท โรสไม่ยอมและเกิดทะเลาะกับลูกค้าขึ้น เธอไม่ได้หวังให้ลูกค้าบาดเจ็บหนัก แต่ที่เลือกใช้กำลังเพราะอยากสั่งสอน โดยเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ลูกค้าไม่กล้าไปทำกับผู้ค้าบริการทางเพศรายอื่นอีก “ตีกันปากแตกอะไรแตกหมดเลย เล็บก็หัก เงินไม่ได้สักบาท” โรสกล่าว

เหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับโรสแล้วสองครั้งในเวลาหนึ่งปี หลังจากนั้นเธอจะขอเก็บเงินก่อนให้บริการทุกครั้ง เธอเรียนรู้จากความผิดพลาด


โสเภณี ‘แรงงาน’ ไร้ ‘สิทธิแรงงาน’
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ระบุ "ค่าจ้าง" หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่านายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ไม่ว่าจะคำนวณเป็นรายวัน รายเดือน หรือตามลักษณะของงานที่ทำ

คิดต่อจากเรื่องที่ โรส ทะเลาะกับลูกค้าถึงขั้นลงไม้ลงมือ ความจริงที่ต้องยอมรับคือเธอเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายในไทย ลำพังโสเภณีคนไทยเองถ้าโดนลูกค้าโกงค่าตัวหรือโดนทำร้ายร่างกาย ไปแจ้งความเมื่อไหร่ก็มีหวังต้องโดนข้อหาค้าประเวณีเข้าเมื่อนั้น แล้ว โรส โสเภณีข้ามชาติคนหนึ่ง จะหวังเรียกร้องอะไร

ชีวิตที่ต้องประทับตรา แรงงานข้ามชาติทำงานที่ถูกตีตรา
โรสและพลอย พวกเธอต้องเดินทางกลับประเทศทุก ๆ สองเดือน ผ่านชายแดนปอยเปต จังหวัดสระแก้ว ข้ามไปกัมพูชาประทับตราในสมุดข้ามชายแดน ก่อนที่จะกลับเข้าไทยมาทำงานต่อ โดยจะมีรถตู้มารับและพาไปส่งยังจุดหมาย เมื่อถึงวันครบกำหนด รถตู้จะโทรมาเตือน ซึ่งทั้งคู่ต้องจ่ายเงิน 1,100 บาทสำหรับค่าประทับตราบัตรและค่ารถในการเดินทาง

พลอยเสริมว่า ล่าสุดได้ยินข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนกฎให้ต้องไปประทับตราทุกสองสัปดาห์ การเปลี่ยนแปลงกฎนี้อาจสะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการค้ามนุษย์ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมบริการทางเพศ บ่อยครั้งที่แรงงานข้ามชาติมักตกเป็นเหยื่อของระบบที่แสวงหาผลประโยชน์จากพวกเขา


ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ตำรวจ และการส่งกลับประเทศ
การทำงานในอาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกจับกุมนั้น โรสพูดย้ำบ่อยครั้งและยืนยันว่าเธอต้อง “เซฟตัวเอง” ความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมและส่งตัวกลับประเทศเป็นเรื่องที่เธอต้องคำนึงถึง "เมื่อก่อนถ้าถูกจับ ตำรวจก็จะปรับเงิน 1,000 และขังหนึ่งคืน จากนั้นก็ปล่อยตัว แต่ตอนนี้ถ้าถูกจับ จะถูกส่งตัวกลับประเทศเลย" เธอเล่า

มีเรื่องราวอื่นๆ ที่เพื่อนร่วมอาชีพเล่าให้ฟัง ซึ่งบอกถึงความไม่ยุติธรรมที่พวกเธอต้องเผชิญ บางครั้งเมื่อหญิงขายบริการถูกจับ ตำรวจจะจัดการกับพวกเธอไม่เท่าเทียมกัน

“ถ้าใครสวยก็จะถูกจับแยกไป ส่วนคนอื่นจะถูกปรับและขังไว้ก่อนจะปล่อยตัว” โรสกล่าวต่อว่า คนที่ถูกแยกไปนั้นไม่ใช่ถูกขัง แต่หลายครั้งถูกให้บำเรอกามเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

รู้หรือไม่ ตำรวจสั่งปรับ Sex Worker ไม่ได้
วันที่ 24 ต.ค. 66 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เป็นครั้งแรก

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การปรับพินัย จาก ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจ’ ไปเป็นของ ‘เจ้าหน้ารัฐ’ จำนวน 3 คน ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 มีการประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีก 7 คน รวมทั้งหมดเป็น 10 คน ได้แก่ ผอ.การกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ, ผอ.การสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ, นักพัฒนาสังคมระดับชำนาญการขึ้นไป, พัฒนาสังคม พมจ. ทุกจังหวัด, ผอ.ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว, ผอ.สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ และนักพัฒนาสังคมและนักสังคมสงเคราะห์ ระดับชำนาญการขึ้นไป ของ 4 หน่วยงานได้แก่ กองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ, ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว, สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

ผลจากการมีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่จำเป็นจะต้องพาตัวผู้ค้าประเวณีไปโรงพัก แต่ให้บันทึกหลักฐานและส่งเรื่องให้ พมจ. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ผู้ค้าบริการสามารถโต้แย้งหรือลดค่าปรับโดยทำงานบริการสาธารณะได้


ภาคประชาชนเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีในประเทศไทย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงและเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายนี้อย่างจริงจัง เพราะการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การปราบปราม ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยข้อเสนอ ได้แก่

1. Sex worker “ไม่ผิด” ติดต่อ-ชวนได้ แต่จะผิดเมื่อทำลายความสงบสาธารณะ หรือเผยแพร่สื่อลามก

2. เจ้าของกิจการ “ไม่ผิด” แต่ต้องขออนุญาตโดย Sex worker ต้อง 18 ปีขึ้นไปและผู้ใช้บริการต้อง 20 ปีขึ้นไป

3. นายหน้า “ผิด” โดยโทษหนักขึ้นหากหลอกลวง ขืนใจ และโทษหนักขึ้นอีกถ้าเป็นเด็กเยาวชน

4. ผู้ใช้บริการที่กระทำชำเรา Sex worker มีความผิด


พัทยาในสายตาของนักท่องเที่ยว เมืองที่ (ไม่) มีโสเภณี?
หลายคนคงเคยได้ยินข่าว “พัทยาไม่มีโสเภณี” แต่ความจริงอีกของด้านเมืองนี้เต็มไปด้วยคนขายบริการ หลากเพศ หลายที่มา ที่ต้องเผชิญกับการถูกเอาเปรียบ การละเมิดสิทธิ ความไม่เป็นธรรม ความเสี่ยงจากโรค และภัยรอบด้าน พวกเขาทำงานในพื้นที่สว่าง แต่กลับเป็นเงามืดของสังคม

เรื่องราวของ ‘โรส’ และ ‘พลอย’ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของชีวิตที่ซ่อนเร้นในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ บทสนทนาของเรื่องราวจบลงในช่วงบ่าย แต่หลังจากนี้เส้นทางชีวิตของเธอทั้งสองยังคงดำเนินต่อ คืนนี้ก็คงเหมือนอีกหลายคืนที่ผ่านมา ชีวิต ‘โสเภณี’ ทำงานขายบริการ ขายเรือนร่างแลกเงิน เพียงหวังวันหนึ่งตัวเองและครอบครัวจะมีชีวิตที่ดีขึ้น


คุณอาจสนใจ

Related News