สังคม

ปราบ 7 หมอเถื่อน เปิดคลินิกเวชกรรม-เสริมความงาม อ้างตัวเป็นแพทย์รักษาประชาชน

โดย chutikan_o

22 ก.ย. 2567

524 views

ตร.สอบสวนกลาง ปราบ 7 หมอเถื่อนต่อเนื่อง เปิดคลินิกเสริมความงาม-คลินิกเวชกรรม อ้างตัวเป็นแพทย์รักษาประชาชน

วันที่ 22 กันยายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางร่วมปฏิบัติการระดมตรวจค้นสถานพยาบาล และบ้านพักที่ดัดแปลงเป็นสถานพยาบาล ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จ.ชลบุรี และ จ.สมุทรสาคร จำนวน 8 จุด จับกุมผู้ต้องหา 8 ราย (หมอเถื่อน 7 ราย และเจ้าของสถานพยาบาล 1 ราย)

สืบเนื่องจากจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราลปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสาธารณะสุขจังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ตรวจสอบบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาโรค และฉีดเสริมความงามให้ประชาชนทั่วไป

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่สืบสวนพบว่า มีบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หลายรายในพื้นที่หลายจังหวัดลักลอบใช้สถานที่ต่างๆ เปิดรับการรักษาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้บริการ บางรายเจ็บป่วยคาดหวังการตรวจรักษาให้หาย แต่กลับไม่ได้รับการรักษาโดยแพทย์ที่แท้จริง ในการณีผู้ที่เสริมความงาม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายรูปแบบอื่นๆ เช่น ใบหน้าผิดรูป บิดเบี้ยว หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงเป็นการนำมาสู่การระดมกวาดล้างหมอเถื่อน และสถานพยาบาลเถื่อนในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จ.ชลบุรี และ จ.สมุทรสาคร รวมจำนวน 8 จุด รายละเอียดดังนี้

1. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำการตรวจสอบในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 4 จุด ได้แก่

1.1. บ้านพักแห่งหนึ่ง พื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยขณะเข้าตรวจสอบพบว่า น.ส.ทัศนีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี กำลังให้บริการฉีดดริปวิตามินให้กับประชาชนที่มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และสถานที่ให้บริการนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการสถานพยาบาล

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวอ้างว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาล โดยมีความรู้เกี่ยวกับความงามและการชะลอวัยได้ประมาณ 8-9 ปี จึงเปิดกิจการเป็นของตัวเอง โดยใช้บ้านพักเป็นสถานที่รับทำหัตถการให้เฉพาะคนรู้จัก หรือบุคคลที่ไว้ใจแนะนำมาเท่านั้น โดยทำมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 1 ปี มีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 20,000 บาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.ทัศนีย์ พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 13 รายการ มูลค่า 30,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินคดี




1.2. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งพื้นที่ ต.สะเดียง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยขณะเข้าตรวจสอบพบ พบ น.ส.พัชนก(สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปีให้บริการดริปวิตามิน และฉีดเสริมความงามให้ประชาชน โดยผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดย น.ส.พัชนก รับว่าจบการศึกษาปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต มีความรู้ในการดริปวิตามินจากการเรียนวิชาชีพพยาบาลมา และรับว่าทำมาแล้วประมาณ 9 เดือน รายได้เดือนละ 15,000 บาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม น.ส.พัชนก พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 6 รายการ มูลค่า 5,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชรบูรณ์ ดำเนินคดี

1.3. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่ง พื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยขณะเข้าตรวจสอบพบ น.ส.วธันยา (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้กับประชาชนที่มารับบริการ โดยพบว่า ผู้ฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด

น.ส.วธันยา กล่าวว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์บัญฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์โดยทำงาน คลินิกเวชกรรมดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี ได้รับเงินเดือนละ 17,000 บาท จากเจ้าของคลินิก เนื่องจากเรียนด้านสาธารณสุขศาสตร์ จึงมาสมัครงานในคลินิกดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม น.ส.วธันยา พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 6 รายการ มูลค่า 5,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชรบูรณ์ ดำเนินคดี

1.4. คลินิกเวชกรรมพื้นที่ ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบ น.ส.พรชิตา (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้แก่ลูกค้าที่มารับบริการ โดยจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

น.ส.พรชิตา กล่าวว่า จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์บัญฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ โดยทำงานในคลินิกดังกล่าวประมาณ 1 เดือน รายได้เดือนละ 16,000 บาท เคยมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลเกี่ยวกับการศัลยกรรมมาก่อน ในช่วงแรกเริ่มทำการฉีดผิวกับกับกลุ่มเพื่อนก่อน เมื่อเริ่มชำนาญจึงได้เข้ามาทำงานที่คลินิคดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุม น.ส.พรชิตา พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 2 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน สภ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินคดี




2. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดพัทยา เข้าตรวจค้นในพื้นที่ จ.ชลบุรี จำนวน 3 จุด ได้แก่

2.1. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  โดยพบ น.ส.พยุง (สงวนนามสกุล)  อายุ 51 ปี ทำการตรวจรักษาให้ประชาชนทั่วไป เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า แพทย์ที่ตรวจรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม อีกทั้งสถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล แต่อย่างใด โดย น.ส. พยุง (สงวนนามสกุล) รับว่าจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นได้ศึกษาการบริบารผู้สูงอายุ และทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์ตามคลินิกต่างๆ โดยเก็บเกี่ยวความรู้จากการสังเกตแพทย์ที่ตรวจรักษา แล้วผันตัวเองเป็นผู้ทำการตรวจรักษาเอง โดยอ้างตัวเป็นแพทย์ตรวจรักษาให้กับประชาชนทั่วไป รายได้เดือนละประมาณ 20,000-25,000 บาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.พยุง พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 52 รายการ มูลค่า 500,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

2.2. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดพัทยา เข้าตรวจค้น พบ น.ส.วาสนา (สงวนนามสกุล) อายุ 65 ปี อ้างตัวเป็นแพทย์ทำการตรวจรักษาให้ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า แพทย์ที่รักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม อีกทั้งสถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล น.ส. วาสนา ยอมรับว่า เป็นเจ้าของคลินิกดังกล่าว และอ้างว่าจบหลักสูตรพยาบาล

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.วาสนาพร้อมตรวจยึดของกลาง 16 รายการ มูลค่า 100,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

จากการตรวจสอบข้อมูลของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พบว่า น.ส. วาสนา ลักลอบเปิดคลินิกโดยไม่ได้ขออนุญาต และอ้างตัวเป็นแพทย์รักษาให้กับประชาชนมานานแล้ว แต่พยายามหลบหนีการจับกุม โดยย้ายคลินิกตลอดเวลา และเมื่อย้ายสถานที่แล้วจะเปลี่ยนชื่อคลินิกไปเรื่อยๆ และจะรับรักษาเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือชาวต่างชาติ เท่านั้น

2.3. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดพัทยา เข้าตรวจค้น พบนายธวัชชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าของคลินิก โดยบุคคลที่อ้างตัวเป็นแพทย์ ทำการรักษาประชาชน ได้หลบหนีไปขณะพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุม นายธวัชชัยฯ เจ้าของคลินิก พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 101 มูลค่า 500,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

สำหรับบุคคลที่หลบหนีการจับกุมและเป็นผู้ทำการรักษา จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบชื่อแล้ว คือ น.ส.ชนัญชิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ซึ่งนายธวัชชัยรับว่าตนเองร่วมกันลงทุนเปิดคลินิกดังกล่าว กับ น.ส. ชนัญชิดา ที่หลบหนีไป โดย น.ส. ชนัญชิดา เป็นผู้ทำการตรวจรักษาโรคให้ประชาชนด้วยตนเอง  




3. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าตรวจสอบคลินิกเสริมความงามภายในห้างดัง พื้นที่ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบ น.ส.นภาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี กำลังให้บริการฉีดผิวให้แก่ลูกค้าที่มารับบริการ โดยจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดย น.ส.นภาพร รับว่าตนเองจบปริญญาตรี สาขาบัญชี มีความรู้ในการฉีดเสริมความงามจากการเคยเป็นพนักงานคลินิกมาก่อน โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี มีรายได้จากการเป็นพนักงานของคลินิก เดือนละ 15,000 บาท และได้ค่าจ้างเพิ่มจากการฉีด ครั้งละ 60 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุม น.ส.นภาพร พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 20 รายการ มูลค่า 110,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน  กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

รวมตรวจค้น 8 จุด โดยเป็นสถานพยาบาลเถื่อน จำนวน 4 แห่ง, จับกุมผู้ต้องหา 8 ราย โดยเป็นแพทย์เถื่อน 7 ราย เจ้าของสถานพยาบาล 1 ราย และผู้ทำการรักษาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย ปริญญาตรี 7 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาขึ้นไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ รวมจำนวน 242 รายการ

ทพ.อาคม  ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การให้บริการของหมอเถื่อนที่ขาดความรู้ความสามารถ ย่อมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการ อย่างการเสริมความงามก็มักจะพบความผิดพลาด ทั้งแผลติดเชื้อ จมูก ปาก หน้าอกผิดรูป เกิดความพิการจากการฉีดสารเสริมความงาม หรือในบางรายก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้น ในการหลีกเลี่ยงอันตรายจากหมอเถื่อนเหล่านี้ ผู้รับบริการจะต้องหมั่นสังเกตเอกสารหลักฐานประจำคลินิก ซึ่งนอกจากเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก และใบอนุญาตให้ประกอบกิจการแล้ว ก่อนเข้าห้องตรวจรักษาจะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน “แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (ส.พ.6)” ที่ติดอยู่หน้าห้อง ซึ่งจะแสดงภาพถ่าย ชื่อ นามสกุล สาขา และเลขที่ใบอนุญาตของผู้ให้บริการ และเพื่อความมั่นใจก่อนรับบริการขอให้นำชื่อของแพทย์รายดังกล่าวไปตรวจสอบในเว็บไซต์แพทยสภา (https://tmc.or.th/) หรือหากเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะให้ตรวจสอบที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://mrd-hss.moph.go.th/) หากไม่ปรากฏรายชื่อในเว็บไซต์ หรือใบหน้าของผู้ให้บริการไม่ตรงกับภาพถ่ายห้ามรับบริการโดยเด็ดขาด และขอให้แจ้งเบาะแสมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็แจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลของท่านนั้นย่อมเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนพ้นจากอันตรายได้



คุณอาจสนใจ

Related News