สังคม

สนามบินตรัง หลังใหม่ ชะงัก! งบ 1,200 ล้าน ผู้รับเหมาทิ้งงาน ฝ้าถล่ม พังเละ

โดย thichaphat_d

15 ส.ค. 2567

1.2K views

สภาพ! อาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติ จ.ตรัง หลังใหม่ งบ 1,200 ล้าน ที่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน ต้องชะงัก หลังจากพังเสียหาย ผลพวงผู้รับจ้างทิ้งงาน ให้เหตุผลขาดสภาพคล่อง ด้าน ป.ป.ช.-กรมท่าฯ ลงตรวจสอบ พบชำรุดพังเสียหายหลายจุด หลังล่วงเลยเวลาส่งงวดงาน งบ 34 ล้าน รอบสุดท้ายมาแล้วกว่า 4 เดือน ทำให้การเปิดใช้งานต้องล่าช้าไปอีกนาน ประชาชนโอดเสียสิทธิเสียโอกาส ส่วนค่าปรับของผู้รับจ้างพุ่งทะยานไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท กรมท่าฯ เตรียมตั้งโต๊ะหาทางออกร่วมกับผู้รับจ้าง 19 ส.ค.นี้ ว่าจะดำเนินการต่อหรือยกเลิกสัญญา เพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่

วันนี้ 14 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินนานาชาติ จ.ตรัง ที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารประมาณ 1,200 ล้านบาท จากงบประมาณรวมทั้งหมด 4,660 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าสัญญาการก่อสร้างกับผู้รับจ้างได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ตัวอาคารกลับยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ มีความเสียหาย ชำรุดทรุดโทรม จนยังไม่สามารถเปิดให้ใช้บริการได้นานมาแล้วกว่า 4 เดือน โดยในวันนี้ได้มี นายกรกช พระสว่าง สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กรมท่าอากาศยาน นางจิราภา ทินมาลา ผอ.ท่าอากาศยานตรัง เข้าชี้แจงและให้ข้อมูล


จากสภาพอาคารกลับพบว่า ต้นไม้หลายจุดยืนต้นตาย หลังคามีน้ำรั่วลงผ่านฝ้าเพดานทำให้ชำรุด มีน้ำขังท่วมหลายจุด ฝ้าเพดานและโครงสร้างของฝ้าพังถล่มลงมา เศษซากตกเกลื่อนพื้น อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ ลำโพง กล้องวงจรปิด ตกหล่นมาเสียหาย ระบบท่อน้ำต่างๆตัน รวมทั้งยังมีความเสียหายอื่นๆอีกส่วนหนึ่ง

นายกรกช พระสว่าง สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า กำหนดเดิมคือวันที่ 22 เม.ย.67 ทางผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่มาพบปัญหาหลักๆคือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง ทำให้ยังไม่สามารถส่งมอบงานงวดสุดท้ายได้ ทำให้การเปิดใช้งานต้องเลื่อนออกไปก่อน ก็จะเหลือในส่วนของการทดสอบระบบ การเก็บงานทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ทางกรมฯ ได้มีหนังสือติดตามเร่งรัดไปยังผู้รับจ้าง ให้เข้าดำเนินการในขั้นตอนสุดท้าย แต่เนื่องจากที่ผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง ก็เลยทำให้การดำเนินการในส่วนนี้ขาดช่วงไป


และอย่างที่เห็นสภาพหน้างาน เมื่อไม่ได้มีการใช้งาน หรือไม่มีคนดูแล ก็จะเกิดความชำรุด ฝ้าเพดานก็พังถล่ม ซึ่งตรงนี้ทางกรมฯ จะต้องคอยติดตามให้ผู้รับจ้างเข้ามาทำงาน ส่วนการดำเนินการของระเบียบราชการก็ต้องเดินตามไป เช่น การบอกเลิกสัญญา หรือหาผู้รับจ้างรายใหม่ ซึ่งในส่วนตรงนี้จะตกลงกับผู้รับจ้างในวันที่ 19 ส.ค.67 เพราะตอนนี้ค่าปรับอยู่ที่ ร้อยละ 10 แล้ว ก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งผู้รับจ้างก็ต้องเข้ามาคุยว่าจะยินยอมเสียค่าปรับเพื่อทำต่อ หรือจะขอยกเลิกสัญญา

ตอนนี้การดำเนินการก่อสร้างดำเนินไปแล้ว 98.3 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือแค่พวกขั้นตอนการทำสอบระบบ ขั้นสุดท้าย แล้วก็การเก็บงานภายนอก แลนด์สเคปต่างๆ ซึ่งในงวดสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่งบประมาณคงเหลืออยู่ 34 ล้านบาท เมื่อผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ไม่มีทุนในการทำ ผู้รับเหมาก็จะเก็บงานไม่ได้ ก็จะกระทบไปถึงตัวผู้เกี่ยวข้อง ซัพพลายเออร์ที่ขายสินค้า ทำให้ยังไม่สามารถปิดงานในขั้นตอนสุดท้ายได้


ความเสียหายของอาคารที่เกิดขึ้น ก็จะต้องยืดระยะเวลาในการแก้ไขและการเปิดให้บริการออกไปอีก เพราะจะต้องเข้ามาเก็บงานเพิ่มเติม ปัญหาเช่นฝ้าถล่ม ท่อตัน เพราะระยะเวลาล่วงเลยกำหนดมากว่า 3-4 เดือน ก็ต้องใช้เวลา เหมือนมาเดินระบบใหม่ให้ใช้งานได้ ซึ่งค่าปรับผู้รับจ้างต่อวัน วันละ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ครบ 100 ล้านบาทแล้ว ส่วนวงเงินค้ำสัญญาอยู่ที่ 50 ล้านบาท

นางจิราภา ทินมาลา ผอ.ท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า วันที่ 19 ส.ค. นี้ คณะกรรมการรับผิดชอบโครงการฯ จะมีการประชุมร่วมกันกับผู้รับจ้างที่ได้รับมอบอำนาจ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุกรมฯ ผู้ควบคุมงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ว่าจะแก้ไขยังไง เร่งรัดยังไง ซึ่งตนก็เพิ่งย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งที่นี่ ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถกำหนด หรือเดดไลน์วันที่สามารถเปิดใช้งานได้ เพราะทางเรามีความหวังไว้เหมือนกับคนตรังที่อยากให้เปิดอย่างเร็วที่สุด แต่มาเจอสภาพหน้างานก็อาจจะต้องยืดระยะเวลาออกไป จะปีนี้หรือปีหน้าก็ต้องรอดูการประเมินก่อน เพราะว่าความเสียหายของโครงสร้างที่เราไม่ได้ใช้งาน ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจะยาวนานมากน้อยแค่ไหน


นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ตรัง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ในการก่อสร้างอาคารสนามบินนานาชาติตรัง ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้ เกรงกลัวว่าจะมีการทิ้งร้าง ทิ้งงาน เหมือนกับโครงการอื่นใน จ.ตรัง วันนี้มาลงพื้นที่ ก็พบว่ามีความล่าช้า ทำให้ประชาชนในพื้นที่สูญเสียโอกาสในการใช้บริการ สูญเสียโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่

ก็ต้องกำชับให้ทางกรมท่าฯ เร่งรัดคู่สัญญาให้ดำเนินการให้ถูกต้องและเสร็จเรียบร้อย ส่วนการที่ผู้รับจ้างทิ้งงาน ก็ต้องเรียกร้องไปยังบริษัทฯเอกชนคู่สัญญา ต้องมีบรรษัทภิบาลในการก่อสร้าง ต้องหาข้อยุติร่วมกันกับผู้ว่าจ้าง หากไม่สามารถมีเงินทุนหมุนเวียน หรือขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ก็ต้องมาหาทางออกร่วมกัน อีกทั้งประชาชนก็อยากให้ทางกรมท่าฯ มีความโปร่งใส มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างความเข้าใจกับประชาชน เปิดเผยข้อมูล สถานะของโครงการ ขั้นตอน ขบวนการต่างๆว่าอยู่ในขั้นตอนไหน เปิดเผยปัญหา อุปสรรคต่างๆที่ ไม่สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จได้

ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า ระยะเวลาในการก่อสร้างอาคารหลายปี มีการขยายระยะเวลาสัญญามาหลายครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาอื่นๆ กระทั้งมาสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 อาคารจะแล้วเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ แต่ทางผู้รับจ้างกลับมามีปัญหาในตัวเอง ทำให้การก่อสร้างที่เป็นความคาดหวังของชาวตรัง ต้องชะงักไปจนถึงปัจจุบัน จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับจ้าง เนื่องจากตอนนี้มีค่าปรับถึง 100 ล้านบาทแล้ว ยิ่งทำให้ขาดสภาพคล่องขึ้นไปอีก ถ้าดำเนินการอะไรได้ที่เป็นประโยชน์ให้สนามบินแห่งนี้แล้วเสร็จ ชาวตรังก็รอคอยอยู่ หากสนามบินแห่งนี้ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบก็จะสามารถเป็นการเพิ่มศักยภาพในด้านเศรษฐกิจของตรังได้ เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มยิ่งขึ้น

ซึ่ง จ.ตรัง ในปัจจุบันนี้ มีลักษณะการท่องเที่ยวแบบเมืองรอง ซึ่งนักท่องเที่ยวกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างจะน้อย ด้วยศักยภาพหลายๆอย่างที่เรามีปัญหา เช่นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในเขตอุทยาน สนามบินยังไม่มีความพร้อม นักท่องเที่ยวที่จะบินมาจากอาเซียน หรือเอเชีย ที่จะบินมาลงสนามบินตรัง และไปยังแหล่งท่องเที่ยวความสะดวกตรงนี้ซึ่งยังไม่พร้อม ก็ทำให้คนตรังเสียโอกาสค่อนข้างจะเยอะในด้านเศรษฐกิจ



คุณอาจสนใจ

Related News