สังคม

‘อ.เจษฎา’ ไขข้อสงสัย ปรากฏการณ์การตัดกันของสี ภาพซ้ายไม่มีสีแดง - ภาพขวาไม่มีสีน้ำเงิน

โดย JitrarutP

2 พ.ค. 2567

218 views

ภาพซ้ายไม่มีสีแดง – ภาพขวาไม่มีสีน้ำเงิน “อ.เจษฎา” ไขข้อสงสัย ปรากฏการณ์การตัดกันของสี สมองตีความเพี้ยนจากความจริง มองไกลๆ จะเห็นสีแดง สีน้ำเงิน แต่ความจริงแล้วภาพซ้ายมีแต่สีขาว-ดำ-เขียว ขณะที่ภาพขวามีแต่สีขาว-ดำ-เหลือง

รศ.ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลังมีชาวเน็ตส่งรูปกระป๋องน้ำอัดลมมาให้วิเคราะห์ โดยระบุว่า มีหลังไมค์ส่งรูป "มือคนถือกระป๋องโคคาโคล่า" ทำนองนี้ (รูปทางซ้าย) มาให้ช่วยดู โดยบอกว่านำมาจากเพจ "สโลว์ไลฟ์" ซึ่งมีแคปชั่นประกอบ ระบุว่า "เถียงกับน้องมาชั่วโมงนึงแระ ภาพนี้ไม่มีสีแดงโว้ยยยยยย ซูมยังไงก็ไม่มี" ซึ่งเป็นเรื่องจริงครับ ลองกดดู และขยายภาพขึ้น จะเห็นว่ามันไม่มีสีแดงอยู่เรื่อย มีแต่จุดสีดำ สีเขียวมิ้นต์ (เขียว cyan) บนพื้นขาว ... แต่เวลามองไกลๆ ก็จะเห็นตัวกระป๋องโค้กนั้น เป็น "สีแดง"



เมื่อลองกูเกิ้ลหาข้อมูลดูแล้ว พบว่าภาพปริศนาดังกล่าวนี้ มีที่มาจากเพจเฟซบุ๊กของ Akiyoshi Kitaoka ที่โพสต์เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลายเป็นไวรัลไปทั่วเน็ต พร้อมกับแคปชั่นว่า This Coca-Cola can appears reddish, though it consists of black and white random dots.  กระป๋องโคคาโคล่านี้ ดูเป็นสีแดง ทั้งที่มันประกอบไปด้วยจุดสีขาวดำ อย่างสุ่มๆ

นอกจากนี้ เขายังแปะภาพอีกภาพไว้ในคอมเมนต์ด้วย (รูปทางขวา) ซึ่งมีแคปชั่นว่า This Coca-Cola can appears bluish, though it consists of black and white random dots. กระป๋องโคคาโคล่านี้ ดูเป็นสีน้ำเงิน ทั้งที่มันประกอบไปด้วยจุดสีขาวดำ อย่างสุ่มๆ

Akiyoshi Kitaoka (อากิโยชิ คิตาโอกา) จริงๆ แล้วเป็นศาสตราจารย์ ด้านจิตวิทยา จากสถาบัน  the College of Letters ของมหาวิทยาลัย Ritsumeikan University ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสถาบัน the Institute of Psychology ของมหาวิทยาลัย University of Tsukuba แล้ว เขาก็มีชื่อเสียงจากการสร้างภาพศิลปะลวงตา จากการเล่นกับรูปทรงเรขาคณิต แสงสว่าง สีสัน การเคลื่อนไหว ตามแนวคิดทางด้านจิตวิทยา จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย (จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Akiyoshi_Kitaoka )

ดังนั้น ถ้าเข้าไปดูที่เพจเฟซบุ๊กของเขา จะพบว่า Akiyoshi Kitaoka ได้แสดงภาพศิลปะลวงตาเอาไว้เยอะแยะ รวมทั้งภาพที่เกี่ยวกับกระป๋องน้ำอัดลมนี้ได้ (ดู https://www.facebook.com/akiyoshi.kitaoka )

สำหรับคำอธิบายที่ว่า ทำไมเราถึงมองเห็นกระป๋องโค้กนั้นเป็นสีแดง ทั้งที่ในภาพมีแต่สีขาว-ดำ-เขียว (หรืออีกภาพ ที่เห็นกระป๋องเป็นสีน้ำเงิน ทั้งที่ในภาพมีแต่สีขาว-ดำ-เหลือง) คำตอบอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "simultaneous color contrast การตัดกันของสี พร้อมๆ กัน" ครับ

ปรากฏการณ์ simultaneous color contrast  เกิดขึ้นเมื่อมีพื้นที่สี 2 สี ที่มาอยู่ข้างกัน และส่งอิทธิพลต่อกันและกัน จนทำให้ไปเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเราต่อสีนั้น (ลองดูตัวอย่างจากภาพนี้ https://www.colorduels.com/.../contrasto-simultaneo... ที่จุดสีแดงทั้งหมดในภาพนั้น เป็นสีแดงเฉดเดียวกัน และจุดสีเขียวในรูปก็เป็นสีเขียวเฉดเดียวกันทั้งหมด แต่เรากลับมองดูเป็นสีแดงอ่อนแดงเข้ม (หรือเขียวอ่อนเขียวเข้ม) ตามสีอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ )

ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่า โดยปรกติแล้ว การรับรู้สีสันของเรานั้น เกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์ประสาทรับแสง รูปโคน (cone cell) ที่ส่งสัญญาณไปที่สมอง และสมองจะประมวลผลโดยอาศัยการประเมินการตัดกัน (contrast) ของสีสันของสิ่งที่ตั้งใจดูนั้น เทียบกับสีอื่นๆ ในรูป ... ดังนั้น เมื่อเราดูภาพดังกล่าว เซลล์รูปโคน ที่เห็นการตัดกันของสี 3 สี (ขาว-ดำ-เขียว cyan) บนภาพ เมื่อส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองกลับตีความเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เกิดเห็นสีที่ 4 เพิ่มขึ้นมา (คือบอกว่า เห็นสีเทา เป็นสีแดง)

สมองของคนเรานั้น ทำงานคล้ายกับระบบ white balance ในกล้องดิจิตอล ที่พยายามจะปรับแก้สีที่เรามองเห็น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยู่ในห้องที่เปิดไฟเป็นสีอมส้ม สมองของเราก็พยายามปรับแก้สีทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น โดยการบอกว่าสีส้มนั้น เป็นสีขาว

ด้วยเหตุนี้ พอเราดูภาพกระป๋องโค้กในรูป จากระยะไกล สมองก็ตีความเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในห้องที่มีสีเขียวcyan และพยายามเปลี่ยนสีเขียวcyan ให้กลายเป็นสีขาว เลยทำให้บริเวณที่เป็นสีเทา (คือมีแต่สีขาว กับสีดำ) กลายเป็นสีแดง (เพราะว่า เมื่อสีแดง อยู่ในห้องที่มีแสงสีเขียวcyan สีแดงนั้นจะกลายเป็นสีเทา .. เหมือนการกลับสีกัน เป็นสีตรงกันข้าม) ถ้ายังจำได้ เรื่องนี้ ก็คล้ายกับตอนที่ถกเถียงกัน กับ "ชุดเดรส" ที่คนแต่ละคนนั้น มองภาพชุดเดรสนี้ ออกมาเป็นคนละสีกัน ซึ่งมีผลมาจากการที่สมองของแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการตีความสี ในสภาพแสงสีที่ต่างกัน และเลยตีความสี ออกมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไปด้วย

ที่น่าคิดคือ ถ้าเป็นคนตาบอดสี (ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นสีต่างๆ ได้ เพียงแต่ไม่ครบทุกสี) ว่าจะเห็นภาพลวงตาพวกนี้ เป็นสีอะไร แตกต่างไปจากคนธรรมดาแค่ไหนครับ

สรุปสั้นๆ คือ ภาพลวงตาพวกนี้ เป็นผลจากการตัดกันของสีในภาพ ทำให้สมองของเราพยายามปรับสีให้กลับเป็นกลาง เลยทำให้เกิดความเพี้ยนของสีในภาพขึ้น เห็น "สีที่ตรงกันข้าม" กับสีส่วนใหญ่ในภาพนั้น เกิดขึ้นให้เห็นได้  (ไม่ได้เป็นเพราะว่า เราจดจำว่า กระป๋องโค้กต้องสีแดง อย่างที่บางท่านเข้าใจครับ)

คุณอาจสนใจ