สังคม
'ทวี' ชี้ โรงพยาบาลคือคุก หลัง สว.รุมซักปม 'ทักษิณ' ถามจะแก้แค้นหรือคืนคนดีสู่สังคม
โดย nut_p
25 มี.ค. 2567
202 views
"ทวี" ชี้ โรงพยาบาลคือคุก หลัง สว.รุมซักปม “ทักษิณ” อ้างร่างกฎหมายเขียนตั้งแต่สมัย “ประยุทธ์” ลั่น ผมจะสั่งใครได้ โบ้ยเป็นอำนาจ ขรก.ยธ.ชุดเดิมทั้งหมด บอกขอเลือกความถูกต้องมากกว่าบุญคุณ ถามกลับ จะแก้แค้นให้หราบจำหรือคืนคนดีสู่สังคม เสียใจ สว.ยัดข้อกล่าวหา ขณะ “ถวิล” ถามกลับบ้าง ถ้าวิธีการถูก ทำไมคำตอบผิด ด้าน “สมชาย” ขู่ พรุ่งนี้ราชทัณฑ์-ปลัด ยธ. เข้าแจงกมธ. จะตามต่อให้ถึงที่สุด
25 มี.ค. 2567 เวลา 16.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้เวลากว่า 20 นาที ลุกขึ้นชี้แจงที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ถึงการบริหารงานในกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของตน มีอุดมการณ์แน่วแน่ที่ ยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฎิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกฏหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและมีความสามัคคีปรองดอง
“ผมเข้าใจดี ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ผมเลือกประโยชน์ส่วนรวม บุญคุณกับการถูกกฎหมายผมเลือกการถูกกฎหมาย กฎหมายกับความถูกต้อง แม้จะไม่ได้ไปด้วยกันหรอก แต่ผมเชื่อว่าเราต้องแก้ให้ไปด้วยกัน ระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรม ผมเลือกระบบคุณธรรม” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อดีตนายกฯทักษิณ เท่าที่รู้จัก ก็ไม่เคยสั่งการหรือให้ตนทำในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อคุณธรรม ที่สำคัญอย่างยิ่ง การที่นายทักษิณกลับเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ขณะนั้น นายกรัฐมนตรียังเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังเป็นนายวิษณุ เครืองาม ส่วนปลัดกระทรวงยุติธรรม , รองปลัดกระทรวงยุติธรรม , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ผู้อำนวยการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นคนคนเดียวกัน ตนเข้ามาไม่ได้เปลี่ยนใคร
“ท่านเชื่อเหรอว่า พล.อ.ประยุทธ์ผมจะไปสั่งการท่านได้ ท่านทักษิณกลับมาต้องไปโรงพยาบาลทันที ผมหรือท่านเศรษฐาจะไปสั่งการนายวิษณุได้ พรรคของผมมี 9 คน ไม่รู้ว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ผมอยากจะให้ความเป็นธรรมสักนิดหนึ่งในการหยิบข้อเท็จจริง ผมคิดว่าการทำลายระบบยุติธรรมก็คือการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบบริหารราชการแผ่นดิน”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า แม้แต่มีการปฏิวัติบางครั้ง มีคนเชิญให้มาอยู่ในตำแหน่ง ตนก็ต้องปฏิเสธ เพราะคิดว่าตนมีอุดมการณ์ ตนได้เข้าไปรับตำแหน่งในวันที่ 11 ก.ย. 2566 หลังนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนก็คิดเหมือนทุกคนว่าทำไมถึงไม่ได้อยู่ในเรือนจำสักคืน ซึ่งเป็นเพราะกฎหมายที่บังคับใช้คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ 2560 เป็นกฎหมายที่เข้าวาระที่หนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2559 หลายคนก็เป็น สว. อยู่ในที่นี้ มีคนภายนอกหลายคน รวมถึงนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกลด้วย
พ.ต.อ.ทวี เล่าว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ที่ดีฉบับหนึ่ง สาเหตุที่แก้ไขเพราะใช้มา 80 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องต่ออาญาประเทศ โดยกฎหมายต้องการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้เรือนจำจาก “เพื่อแก้แค้นให้หลาบจำ เป็นแก้ไข เพื่อคืนคนดีสู่สังคม” จึงถือว่าเป็นการพิจารณาที่รอบคอบ
“ท่านทราบหรือไม่ว่าท่านแก้มาแล้ว คนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ เรื่องการกำหนดโทษเป็นเรื่องของศาล แต่การบริหารทั่วไปของกฎหมายราชทัณฑ์ คน 280,000 จะเข้าไปราชทัณฑ์ เข้าไม่ได้ ต้องมีหมายศาลก่อน การที่นายกฯ ทักษิณต้องไปอยู่โรงพยาบาลชั้น 14 ผมอยากจะตรวจว่ามีใครทำหน้าที่บกพร่องหรือไม่ ก็พบว่าในกฎหมายที่พวกท่านร่างกันมาแล้ว เราพบว่าท่านทักษิณไปอยู่โรงพยาบาล โดยหลักการทางแพทย์” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า ในกฏหมายราชทัณฑ์มีเจตนารมย์จะให้มีที่คุมขังอื่น จะให้มีคุกที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ซึ่งในกฎกระทรวงก็บัญญัติไว้ว่าอยู่โรงพยาบาล ก็ถือว่าไม่ได้กลับไปอยู่บ้าน ตนอยากให้สังคมรับรู้ว่าการคุมขังตามกฏหมายใหม่ ไม่ใช่คุมขังที่เรือนจำ ทราบหรือไม่ว่าวันนี้เรือนจำสามารถรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 1.8 แสน แต่วันนี้มีนักโทษท 2.8 แสน
เมื่อตนเข้ามาดูขั้นตอนทั้งหมดก็พบว่าที่โรงพยาบาลตำรวจก็คือเรือนจำ นายทักษิณไม่สามารถออกจากห้องได้ เพราะเรามีผู้คุม และอย่าคิดว่าใครจะมีอิทธิพลเหนือ เพราะผู้คุมแต่ละคนเขากลัวต้องโทษ จึงปฏิบัติตามระเบียบของราชทัณฑ์หมด
“อดีตท่านนายกทักษิณได้ถูกจำคุก ผมถือว่าจำคุก แต่ใช้สถานที่คุมขังอื่น ซึ่งไม่ใช่มีท่านคนเดียว ก็จะมีบุคคลอื่นตามตัวเลข 4-5 หมื่น แต่ถ้าเกิน 120 วันก็ไม่ค่อยเยอะ วันนี้เราอาจจะไม่สะใจ เพราะท่านไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่ท่านไปถูกคุมขังตามกฏหมาย กฎหมายนี่เกิดก่อนผมเข้ามา ผมไม่ได้ร่างเลย และระเบียบต่าง ๆ ก็เกิดมาก่อน ผมบอกแล้วบุญคุณกับการถูกกฎหมายผมยึดการถูกกฎหมาย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี ยังชี้แจงว่า พอครบ 120 วัน กรมราชทัณฑ์ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบ ตนบอกให้ไปตรวจให้แท้จริง เพื่อยืนยันว่าป่วยจริงและต้องยืนยันว่าต้องอยู่โรงพยาบาล ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ย้ำว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่มีอำนาจพักโทษใคร เพราะกฎหมายที่ร่าง ให้มีคณะกรรมการพักโทษ พิจารณาเกณฑ์ กรณีของนายทักษิณ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นว่าเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ คะแนนได้เพียง 9 คะแนน ลงคะแนนโดยพยาบาลของกรมอนามัย ส่วนผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็พูดคล้ายกัน อัยการก็เห็นด้วย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า จะคิดอย่างไรก็ตาม แต่มีกฎหมายที่ท่านร่างและท่านก็อยู่ ตนรู้สึกเสียใจกับข้อหาที่นั่งฟัง ส่วนกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สว. ขอใบแพทย์ ตนยืนยันว่าเป็นความลับ ยืนยันว่าเป็นไปตามกระบวนการ ตนยังคิดว่าการฉีกรัฐธรรมนูญสร้างความแตกแยกมากกว่านี้ นี่เป็นการทำตามกฎหมาย
ภายหลังการชี้แจง นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ลุกขึ้นประท้วง ว่า สิ่งที่ตอบไม่ตรงกัน ที่บอกว่าออกมาจากรัฐบาลที่แล้ว และอาจทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน พ.ต.อ.ทวีทำตามกฏหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่อ้างว่าทำตามกฏหมาย มันไม่ได้จะเป็นไปตามนั้น
“ท่านป่วยจริงไหม สังคมบอกว่าไม่ได้ป่วยจริง ท่านนอนโรงพยาบาลหรือไม่ สังคมบอกว่าท่านไม่ได้อยู่โรงพยาบาล อันนี้คือความแตกต่าง ผมคิดว่ามันยังไม่ถูกต้อง” นายเสรี กล่าว
ขณะที่ นายสมชาย ขอใช้สิทธิ์พาดพิง กล่าวว่า ตนเป็นเลขาวิป สนช. ตนไม่อยากพาดพิงใคร ยืนยันว่ากฎหมายอยู่ที่การบังคับใช้ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบันและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พรุ่งนี้ (26 มี.ค. 67) ปลัดกระทรวง กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ จะมาชี้แจงที่กรรมาธิการของตนต่อ ตนจะแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนหลักฐานทางสุขภาพตนยืนยันว่าสามารถให้กรรมาธิการได้ พร้อมย้ำว่าขอแค่ตนขอแค่ภาพถ่าย 180 วันวันละ 12 ครั้ง ที่ส่งถึงผู้บัญชาการว่าผู้คุมได้ถ่ายรูปคู่กับนักโทษส่งให้กับผู้บัญชาการเรือนจำหรือไม่
ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี สว. ลุกประท้วงว่า ที่ได้ชี้แจงมาทั้งหมด วิธีทำและคำตอบต้องไปด้วยกัน วิธีทำถูกแต่คำตอบผิดใช้ไม่ได้ ท่านเอะใจบ้างหรือไม่ ว่าทำไมคำตอบเรื่องนี้เป็นแบบนี้ ในฐานะที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำไมคำตอบมันผิดเพี้ยน ค้านสายตาแบบนี้ วิธีทำและการใช้กฎหมายคำตอบต้องไปด้วยกัน
ทำให้ พ.ต.อ.ทวี ขอชี้แจงอีกรอบว่า การจัดห้องพักพิเศษให้กับนายทักษิณ บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า ตามกฎหมายไม่ได้ให้แพทย์จัดห้องพิเศษให้ เพียงแต่ระบุให้โรงพยาบาลจัดที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตนเองได้ไปตรวจสำนวน และพบว่า นายทักษิณ ถูกปองร้ายจากคดีคาร์บอมบ์มาแล้ว เมื่อปี 2549 ดังนั้น จึงจะต้องป้องกันให้ผู้ต้องขัง ได้รับความปลอดภัยด้วย