สังคม

ก.ต.ช.ภาคประชาชน เสนอไอเดียแก้ปัญหา 'ช้างป่า' รอยต่อระยอง-จันทบุรี อย่างเบ็ดเสร็จยั่งยืน

โดย nut_p

24 มี.ค. 2567

614 views

ก.ต.ช.ภาคประชาชน เสนอไอเดียแก้ปัญหาช้างป่ารอยต่อระยองและจันทบุรี แบบบูรณาการ ให้ได่ผลเบ็ดเสร็จยั่งยืน



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะประชาชนในภารกิจงานตำรวจ และได้รับทราบถึงปัญหาช้างป่ากับคน เป็นเหตุผลให้ชาวบ้านชวนตนไปดูการแก้ไขปัญหาช้างป่า ตนจึงเริ่มลงพื้นที่ศึกษาหาข้อมูล การแก้ไขปัญหาช้างป่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในการลงพื้นที่ค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับประชาชนและคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ แกนนำชุมชน คณะทำงานอาสาสมัครเกี่ยวข้องกับปัญหาช้างป่าและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ชุมชน และภาคเอกชน เป็นต้น โดยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเป็นแนวทางสำคัญสูงสุดในการศึกษาวิจัยและจัดทำบันทึกข้อเสนอเชิงนโยบาย วิถีใหม่ แก้ไขปัญหาช้างป่า แบบบูรณาการ







พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2542 ความโดยสรุปว่า “.....ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอการปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลง เล็ก ๆ และกระจาย......” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพราชดำริ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ความโดยสรุปว่า “......ให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) หรือ สระน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ป่ากุยบุรี เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ เพื่อชะลอน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่า และเป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารของช้างป่า...”



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555 ณ พระตำหนักจิตรลดา ความโดยสรุปว่า “....ช้างเป็นสัตว์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรีและแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมืองกู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ ช่วยกันดูแล มิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตั้งพระราชหฤทัย ที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้างให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป...”



จากการน้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวทางสำคัญสูงสุดในการศึกษาวิจัยและลงพื้นที่เข้าถึงภาคประชาสังคมอันประกอบด้วย ภาคประชาชน ชุมชน เอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่า พบผลการศึกษาที่มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้



1. สถานการณ์ปัญหาช้างป่าและปัญหาคนในพื้นที่ป่ารอยต่อจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี

ช้างป่ายังคงอยู่และเข้าในพื้นที่ชุมชนที่พักอาศัยของประชาชน อ.แก่งหางแมว และ อำเภอใกล้เคียง จำนวนประมาณการล่าสุดมีช้างป่าในกลุ่มป่าภาคตะวันออกจำนวน 592 ตัว (แต่ ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องความน่าเชื่อถือถูกต้องแม่นยำของจำนวน ที่มาของตัวเลขสถิติช้างป่า)



2. ปัญหาและสาเหตุ มีสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ (๑) สาเหตุภายในพื้นที่ป่าที่ผลักดันให้ช้างออกจากป่า ได้แก่ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า กลุ่มพรานป่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น (๒) สาเหตุภายนอก นอกเขตพื้นที่ป่า ที่เป็นสาเหตุดึงดูดช้างป่าให้ออกจากป่า เช่น แหล่งอาหาร พืชเกษตร แหล่งน้ำ และอื่น ๆ ที่ปลูกติดรั้วกั้นช้างและใกล้เขตพื้นที่ป่า เป็นต้น



3.นโยบายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่า กับ คน ป่ารอยต่อ ระยอง จันทบุรี นโยบายปัจจุบันที่กำลังทำอยู่ ให้ช้างป่ากับคนอยู่ร่วมกันได้ ช้างปลอดภัย คนปลอดภัย



4.การบริหารจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่า กับ คน ป่ารอยต่อ ระยอง จันทบุรี มีในปัจจุบัน ดังนี้ รั้วกึ่งถาวร ,คูกั้นช้าง ,รั้วรังผึ้ง ,ชุดเคลื่อนที่เร็ว ,ชุดความรู้ ,การเยียวยา ,การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ  



5.การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ ค้นหาปัจจัยสำเร็จ  พบว่าในพื้นที่ ระยอง จันทบุรีในพื้นที่ป่า อำเภอ แก่งหางแมว และอำเภอใกล้เคียง ป่ารอยต่อ ระยอง จันทบุรี ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีการทำร้ายช้างป่า ทำร้ายคน และพืชทางการเกษตร ทรัพย์สินของประชาชนและชุมชน วันนี้ลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านและกลุ่มทุน ปลูกสวนทุเรียน ติดรั้วกึ่งถาวรกั้นช้างป่า แต่กั้นไม่ได้ผล จึงเสมือน “ระเบิดเวลา” รอวันปะทุรุนแรงระหว่างช้างป่า กับ ชาวสวนทุเรียน ในอีกประมาณ 2 ปีนี้ จึงจำเป็นต้องป้องกันแก้ไขปัญหาช้างป่าวันนี้






แต่ ปัจจัยสำเร็จ ที่เกิดในพื้นที่อื่น เช่น ป่า กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่น้อมนำหลักการแก้ไขปัญหาช้างป่ากับคนจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการ “วิถีใหม่ แก้ไขปัญหาช้างป่า แบบบูรณาการ” ด้วยการ ดูแลคน ดูแลช้างป่า จะสำเร็จได้ดีเยี่ยม ต้องอาศัยบูรณาการร่วมขับเคลื่อนทำงานจาก กระทรวงทรัพยากรฯ  กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เป็นต้น



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า สำหรับวิถีใหม่ แก้ไขปัญหาช้างป่า แบบบูรณาการปัจจัยสำเร็จ นำหลักการแก้ไขปัญหาช้างป่ากับคน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน โดยมีวิถีใหม่ แก้ไขปัญหาช้างป่า แบบบูรณาการ ณ ป่ารอยต่อ ระยอง จันทบุรี โดยแยกออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ดูแลคน และ 2.ดูแลช้างป่า 3.ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง และ 4.อื่น ๆ เช่น การสร้างสมาร์ททีม (Smart Team) จากรุ่นสู่รุ่น แก้ไขปัญหาช้างป่า



ทั้งนี้ เรื่องการดูแลคน ต้องมีการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพจาก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ คชบาล ช้างป่า กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าและกลุ่มจิตอาสาร่วมแก้ไขปัญหาช้างป่าในชุมชนระดับพื้นที่ผลกระทบจากช้างป่า มีระดับขั้นการรับค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่น ๆ ถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับชุมชน รุ่นต่อรุ่น ลดช่องว่างการทำงานระหว่างรัฐกับประชาชน

ส่วนดูแลเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนทรัพยากรจำเป็นต่อการ เกาะติดแก้ไขปัญหาช้างป่าระดับชุมชน ท้องถิ่น มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์



การดูแลเยียวยาประชาชน เกษตรกร ผู้ได้รับความเสียหายได้อย่างเหมาะสม ด้วยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก เชื่อมั่นและสนับสนุน เครือข่ายภาคประชาสังคมแก้ไขปัญหาช้างป่าและคน ร่วมกัน ผ่านการส่งเสริมการศึกษาและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องติดตามประเมินผลวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแก้ไขปัญหาช้างป่ากับคนในระดับพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น



ส่วนการดูแลช้างป่า ควรให้น้อมนำหลักการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เข้าถึงทุกชุมชน หมู่บ้าน ขยายผลต่อยอดและปรับเข้ากับแต่ละบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ป่า รวมถึงจัดทำสำมะโนประชากรช้างป่า (Census) สำรวจจำนวนช้างป่าที่เป็นจริงเชื่อถือได้ ไร้ข้อโต้แย้งเรื่องจำนวนและการบันทึก อัตลักษณ์ ทุกตัว แยกเพศ ทำโครงสร้างอายุ วัยเจริญพันธุ์ ตามหลักประชากรศาสตร์ และเข้าถึงวิถีชีวิตของช้างป่า เพื่อออกมาตรการรองรับได้อย่างประณีต เหมาะสมถูกต้อง ไร้แรงเสียดทาน แต่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมและชุมชนระดับพื้นที่



นอกจากนั้นให้นำเทคโนโลยี นวัตกรรม แก้ไขปัญหาช้างป่า เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ป้องกันช้างออกจากป่า เทคโนโลยี Laser หักเหทิศทางการเดินทางของช้างป่าได้ และการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (Internet of Things, IOT) เฝ้าระวังการบุกรุกของช้างป่า ช่วยเหลือคน ช่วยเหลือช้างป่า ได้พร้อม ๆ กัน ตรวจสอบข้อมูลการรายงานระดับพื้นที่ว่าจริง ถูกต้อง แบบเรียลไทม์ (Realtime) หรือเกือบเรียลไทม์



ในส่วนการลงทุนสร้างโครงสร้างแข็ง เช่น รั้วกั้นช้างป่ากำแพงกั้นช้างป่า เป็นการลงทุนที่น่าพิจารณาตามความเหมาะสมกับแต่ละบริบท สภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ป่า แต่ต้องทำอย่างประณีต และการดูแลรักษาต่อเนื่องให้คงทนมีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ อาทิ สร้าง คลินิกช้างป่า โรงพยาบาลช้างป่า อีกทั้งสมควรให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาช้างป่ากับคน อาทิ ระดับความเหมาะสมของ ค่าเยียวยากับความสูญเสีย และ สวัสดิการ รวมถึงการบูรณาการแก้ไขปัญหาช้างป่ากับคนร่วมกัน อย่างไร้รอยของภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกัน



ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาชน กล่าวว่า สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เช่น การสร้างสมาร์ททีม (Smart Team) จากรุ่นสู่รุ่น แก้ไขปัญหาช้างป่า เสริมสร้างศักยภาพป่าชุมชน และใช้แหล่งทุนเอกชน กรณีเร่งด่วนพิเศษ บังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า พรานล่าสัตว์ป่า และเร่งฟื้นฟูสภาพป่าจากภัยพิบัติไฟป่า เป็นต้น ทั้งนี้ร่างข้อเสนอดูแลคนดูแลช้างดังกล่าว ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อมูลผลการศึกษาแนวทาง วิถีใหม่ แก้ไขปัญหาช้างป่า แบบบูรณาการ โดยนำไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News