สังคม

‘อ.เจษฎา’ เผยหญ้าทะเลโครงการ CSR ไม่ช่วยเพิ่มอาหารพะยูน เพราะเป็นชนิดพันธุ์ที่น้องไม่ชอบกิน

โดย chutikan_o

11 มี.ค. 2567

574 views

‘อ.เจษฎา’ แชร์ข้อมูลทำไมการไปปลูกหญ้าทะเล ไม่ได้ช่วยพะยูน เผยหญ้าทะเลที่เอามาทำโครงการ CSR เป็นชนิดพันธุ์ที่พะยูนไม่ชอบกิน

วันที่ 11 มี.ค. 2567 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ แชร์โพสต์จากเพจ digitalay ที่ให้ข้อมูลเรื่อง ทำไมการไปปลูกหญ้าทะเล ไม่ได้ช่วยพะยูน โดย อ.เจษฎา ระบุข้อความว่า “สรุป หญ้าทะเล ที่เอามาทำโครงการ CSR จัดทริปไปปลูกกันนั้น เป็นชนิดพันธุ์ หญ้าคาทะเล ซึ่งพะยูนไม่ชอบกิน!”

ด้านต้นโพสต์ของเพจ digitalay ระบุข้อความโดยสรุปว่า ทำไมการไปปลูกหญ้าทะเล ไม่ได้ช่วยพะยูน

1.ทำไมกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเลไม่ได้แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

ถ้าบริเวณที่จะไปปลูกนั้นมันไม่มีหญ้าทะเลอยู่ มีความเป็นไปได้ 2 อย่างคือ... ไม่เคยมีหญ้าทะเลโตที่นั่นเพราะสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับหญ้าทะเลตามธรรมชาติ หรือเคยมีหญ้าทะเลที่นั่นในอดีตแต่หายไปเนื่องจากผลกระทบที่เป็นลบ (ทั้งจากมนุษย์หรือธรรมชาติ)

แปลได้ว่า ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ถึงจะพยายามปลูกยังไงก็ไม่รอดอยู่ดี ถ้าเป็นพื้นที่ที่สภาพแย่ลงจนไม่มีหญ้าทะเลเหลือแล้ว ก็แปลว่าพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมแล้ว ถ้าเราไม่แก้ให้สภาพกลับมาดีเหมือนเดิมด้วยการเอา negative impact ของพื้นที่ออกไป หญ้าทะเลที่ไปปลูกเหล่านั้นก็ไม่รอดอยู่ดี

2. ทำไมจำนวนหญ้าทะเลในกิจกรรมปลูกหญ้าถึงไม่เพียงพอที่จะสร้างโอกาสในการอยู่รอดของผืนหญ้าในระยะยาว

จากการติดตามผลโปรเจ็กต์ฟื้นฟูหญ้าทะเล ที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลกหลังจากแต่ละโครงการผ่านไป 36 เดือน พบว่า...

ในแง่ของจำนวน - การที่ผืนหญ้าทะเลจะกลับมาสมบูรณ์และสามารถเพิ่มจำนวนขยายพื้นที่ออกไปได้ตามธรรมชาติ ต้องมีจำนวนต้นปลูกตั้งต้นมากกว่า 10,000 ต้น

ในแง่ของขนาดพื้นที่ - การจะปลูกหญ้าทะเลให้ได้ผลกลับมาเป็นนิเวศที่สมบูรณ์ในตัวมันเองได้ควรจะมีพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 1 hectare (ประมาณ 6.25 ไร่) โดยระยะปลูกที่ดีที่สุดจะห่างกันประมาณ 50cm-100cm หรือต้องใช้ต้นปลูกประมาณ 10,000-40,000 ต้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

แปลว่าถ้าเราต้องการผลการฟื้นฟูที่ยั่งยืน เราต้องมีพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม (กรุณากลับไปอ่านข้อ 1) มีขนาดอย่างน้อยประมาณ 100 x 100 เมตร (6.25 ไร่) และ ต้องปลูกไม่น้อยกว่า 10,000 ต้นสมมติว่าเรามีอาสาสมัคร 50 คน แต่ละคนต้องลงปลูกอย่างน้อยคนละ 200 ต้น ถึงจะเห็นผล

3.หญ้าทะเลที่เอามาปลูกไม่ใช่หญ้าทะเลที่เหมาะสมกับการปลูกเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ และแหล่งที่มาของหญ้าทะเลที่เรานำไปปลูกเกือบทั้งหมดมาจากการไปรบกวนระบบนิเวศหญ้าทะเลที่อื่น

หญ้าทะเลในไทยมี 13 ชนิด แต่ชนิดที่สามารถเก็บเมล็ดจากธรรมชาติมาเพาะพันธุ์ได้ในปัจจุบันมีแค่หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) ชนิดเดียว

ปัญหาสำคัญกว่านั้นคือ

- หญ้าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้เพียงชนิดเดียวนี้ ดันเป็น Climax species สำหรับนิเวศหญ้าทะเล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เหมาะในการตั้งต้นฟื้นฟูระบบนิเวศ

- ในการฟื้นฟูสภาพนิเวศตามกลไกธรรมชาติจะเริ่มจาก pioneer species (ที่โตเร็ว แต่ก็อายุสั้น) มาลงพื้นที่ (สำหรับนิเวศหญ้าทะเล pioneer species คือกลุ่ม Halophila spp และ Halodule spp.) เมื่อ pioneer species เริ่มโตปกคลุมพื้นที่จากนั้นความสมบูรณ์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนในที่สุดสายพันธุ์ climax species จะเริ่มเข้ามาปกคลุมพื้นที่ จนเป็นนิเวศที่เสถียร

- แต่หากเรานำ climax species มาลงพื้นที่ก่อน กลุ่ม pioneer species อาจจะไม่กลับมาในพื้นที่ ทำให้นิเวศนั้นขาดความหลากหลายทางชีวภาพและในที่สุดก็อาจจะล่มสลายไป

4.หญ้าทะเลที่เอามาให้เราปลูก มันไม่ใช่หญ้าทะเลที่พะยูนชอบกิน!!

จากหญ้าทะเล 13 ชนิดในประเทศไทย มีอยู่แค่ชนิดเดียวเท่านั้นที่พะยูนไม่ชอบกิน นั่นคือหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) นี่แหละ เพราะโครงสร้างของใบที่มีไฟเบอร์สูงทำให้เหนียวและย่อยยาก สารอาหารก็น้อย โดยทั่วไปพะยูนจะเลือกกินหญ้าทะเลกลุ่มใบสั้นจำพวก Halophila spp และ Halodule spp. มากกว่า เพราะนิ่ม ย่อยง่าย และสารอาหารครบ

การที่เราไปปลูกหญ้าทะเล ร้อยทั้งร้อยจะให้เราปลูก “หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides)” ดังนั้นมันไม่ได้เป็นการไปเพิ่มพื้นที่อาหารให้พะยูนแต่อย่างใด


คุณอาจสนใจ

Related News