สังคม

ไม่รอด! DSI บุกจับหญิงรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายคาสนามบิน หลังกลับจากประเทศจีน

โดย chiwatthanai_t

15 ม.ค. 2567

349 views

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 02.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุดปฏิบัติการสืบสวน ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ภายใต้การอำนวยการของ นายวิทวัส สุคันธรส ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 4 ได้ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2  ร่วมกันจับกุม นางสาวสายฝน (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 3812/2566 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำผิดร้ายเเรงอันเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ


โดยจับกุมได้ที่ บริเวณอาคารผู้โดยสารขาเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ขณะผู้ต้องหากำลังเดินทางกลับจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 236/2565 กรณีขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทย เพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย


กรณีเด็กชายแทนไทย (นามสมมุติ) ซึ่งมีนางสาวสายฝน (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ต้องหา และหลบหนีไปต่างประเทศ จึงขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับและประกาศสืบจับไว้ ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนเสร็จสิ้น ทางคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวสายฝนฯ และได้เสนอความเห็นพร้อมสำนวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ต่อมา ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับประสานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ว่านางสาวสายฝนฯ กำลังเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 จึงร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมาวันนี้ จึงได้ควบคุมนางสาวสายฝนฯ ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า "ภัยจากอาชญากรรมพิเศษมีผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม ดังนั้น ในการปฏิบัติงานด้านคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีการบูรณาการการปฏิบัติงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการร่วมกันกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน"

คุณอาจสนใจ

Related News