สังคม

สถิติความรุนแรงต่อผู้หญิง-เด็ก ปี 65 ยอดพุ่ง 3 เท่า ฆ่าตายมากสุด เฉพาะที่เป็นข่าวนับพันเหตุการณ์

โดย paweena_c

27 พ.ย. 2566

73 views

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล – สสส. ประกาศเดินหน้าลดความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็ก หลังพบสถิติปี 65 ยอดพุ่ง 3 เท่า เฉพาะที่เป็นข่าวนับพันเหตุการณ์ ฆ่ากันตายมากสุดในทุกๆ ปี สุดห่วงเหล้า-ยา ยังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ชวนร่วมจับสัญญาณร้าย เพื่อป้องกันแก้ไข ก่อนยกระดับกลายเป็นความรุนแรง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 66 ที่ศูนย์การค้าจามจุรีสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ บริษัท สปา - ฮาคูโฮโด จำกัด (SPA HAKUHODO) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยมีการเสวนา “หยุดสัญญาณร้าย..ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัว” พร้อมทั้งจัดทำหนังสือพิมพ์เฉพาะกิจ จำลองสถานการณ์ความรุนแรงที่กลายเป็นข่าวพาดหัวแจกจ่ายผู้ร่วมงานและประชาชนทั่วไป พร้อมแสดงละคร “สัญญาณร้าย ไม่ใช่รัก”  โดย ทีมเฉพาะกิจเธียร์เตอร์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมเฝ้าสังเกต และไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณอันตราย  


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนประเด็น สะท้อนปัญหา และถอดบทเรียนไปสู่การหาแนวทางแก้ไขมาตลอด เพราะหากไม่ป้องกันตั้งแต่ต้นทางความรุนแรงในครอบครัวและเสี่ยงต่อการมีสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคมที่ไม่ดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผู้ขอคำปรึกษามูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี2565 พบผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติดเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเราพูดมาตลอดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางของปัญหาใน 4 มิติ

1. ด้านสุขภาพ เช่นก่อให้เกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์, โรคตับ, โรคหัวใจขาดเลือด, ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน

2. ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว, ทะเลาะวิวาท, อุบัติเหตุทางถนน

3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ทำให้ สูญเสียค่ารักษาพยาบาลมหาศาล, หน้าที่การงานมีปัญหา, ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ, ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านลบต่อประเทศชัดเจน

4. ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์


“จากข้อมูลล่าสุดของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือผู้ถูกกระทำทุกคนหรือเกือบ 100% ถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับยาเสพติดเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ จุดนี้ยิ่งทำให้ สสส. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เดินหน้าเชิงรุก ประกาศเจตนารมณ์เดียวกันที่จะทำให้เหตุการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลงให้มากที่สุด และกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการเปิดประสบการณ์ สัญญาณ ร้าย... ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัวซึ่งมีกรณีผู้ประสบปัญหาจริงมาเล่าประสบการณ์ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม นำสู่การพิจารณามาตรการทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยุติปัญหาเหล่านี้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นายพิชัยพัชร์ ตนานนท์ Account Management SPA HAKUHODO กล่าวว่า เราเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มาก่อนหน้านี้แล้ว เห็นว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจัง ปีนี้องค์กรของเราจึงอยากช่วยทำงานด้านการสื่อสารเพื่อยุติความรุนแรง อยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดสถิติความรุนแรง เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันในสังคมไทยยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คนกลับชินชาจนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้

เราจึงระดมความคิดเห็นร่วมกันกับมูลนิธิ รวมถึงเคสผู้ถูกกระทำความรุนแรงหลายครั้ง จนได้แนวคิดในการสื่อสาร โดยมองว่าในแต่ละวันมีข่าวความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งแทบทุกวัน จำเป็นต้องสังเกต จับสัญญาณบางอย่างให้ได้เพื่อนำไปสู่การป้องกัน แก้ไข ก่อนจะลุกลามไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นจนอาจกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง และจะมีสัญญาณอะไรบ้างที่ควรสังเกตุ

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสื่อสารในรูปแบบหนังสือพิมพ์ โดยได้ร่วมกับหนังสือพิมพ์ M2F จัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้ขึ้น เพื่อแจกจ่าย รณรงค์ ให้คนตระหนักรู้เพื่อลดความรุนแรงในอนาคต ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ก็ต้องเข้ามาร่วมมือกันจึงจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง


ด้านนางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวปี พ.ศ.2565 ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ พบว่าปี 2565 มีรายงานข่าวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24% การรายงานข่าวพบการฆ่ากันตายในครอบครัวสูงที่สุดมีถึง 534 ข่าว คิดเป็น 47.2% การทำร้ายกัน 323 ข่าว คิดเป็น 28.6% การฆ่าตัวตาย 155 ข่าว คิดเป็น 13.7% ข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 64 ข่าว คิดเป็น 5.6%

โดยการฆ่ากันเกิดเหตุระหว่างสามีภรรยาสูงสุด 213 ข่าว คิดเป็น 39.9% และเป็นข่าวสามีฆ่าภรรยาสูงถึง 157 ข่าว คิดเป็น 73.7% สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวงว่าภรรยานอกใจ 94 ข่าว คิดเป็น 55% ง้อไม่สำเร็จ 46 ข่าว คิดเป็น 26.9% วิธีการที่ใช้มากสุดคือปืนยิง 93 ข่าว คิดเป็น 53.4% ใช้ของมีคม 51 ข่าว คิดเป็น 29.3% และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 13 ข่าว คิดเป็น 7.5%

“ที่น่าห่วงคือการมองปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกันโดยจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ระยะแรก เช่น การหึงหวง การบังคับควบคุม ข่มขู่ รุกราน รวมทั้งกรณีที่มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดร่วมด้วยมีแนวโน้มส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ในส่วนการแก้ไขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวง พม. ควรเพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ให้มีทักษะในการจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวและเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการพัฒนากลไกให้เข้มข้นในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหาและมีกระบวนการปรับทัศนคติผู้กระทำด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก  เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี” นางสาวจรีย์กล่าว


ด้าน ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่มีมานานในสังคมไทย และตัวเลขสถิติข่าวความรุนแรงที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเก็บรวบรวมและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเนื้อข่าวความรุนแรงที่พวกเรารับรู้ผ่านสื่อมวลชนก็นับวันจะยิ่งทวีความร้ายแรงมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทุกองคาพยพของสังคมไทยต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้สร้างความทุกข์และความเสียหายเฉพาะกับผู้ถูกกระทำในปัจจุบัน แต่จะส่งผลกระทบเรื้อรังไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปของสังคมที่ต้องเติบโตมาในครอบครัวและสังคมที่มีการใช้ความรุนแรงด้วย

“ไม่ว่าเราจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างไร หากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและได้ผล ปัญหานี้จะกลายเป็นตัวบ่อนเซาะทำลายรากฐานคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวม และเราจะยิ่งเห็นผลกระทบของปัญหาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต น่าเสียดายว่าขณะนี้ประเทศไทยเรายังไม่มีทิศทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ชัดเจน รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น นอกจากเราจะอยากเห็นภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแล้ว เรายังคาดหวังว่าหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีทรัพยากร กำลังคน และอำนาจทางการบริหารที่จำเป็นในการจัดการปัญหา จะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการกำหนดยุทธศาสตร์ วางแผน และลงมือปฏิบัติการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ดร.วราภรณ์ กล่าว


คุณอาจสนใจ

Related News