สังคม

เคาะแล้ว! ที่ประชุม สธ.มีมติ ครอบครอง 'ยาบ้า' ไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ เข้าบำบัดแทนเข้าคุก

โดย panisa_p

3 พ.ย. 2566

100 views

นพ. กิตติศักดิ์ อักษรวงษ์ รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.ท. คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ร่วมแถลงข่าว หลังการประชุม พิจารณาร่างประกาศกฎกระทรวง สาธารณสุข ในการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ


นพ. กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมหารือ ในการพิจารณาปริมาณยาเสพติด ยาบ้า สำหรับกลุ่มผู้เสพโดยในที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ในร่างประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดยาเสพติดให้โทษ ในการครอบครองยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ


โดยมีสำหรับเหตุผลที่ใช้ในการพิจารณาการถือครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพนั้นได้พิจารณาจากเหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ และด้านสุขภาพจิต รวมถึงผลกระทบต่อชุมชน  โดยปริมาณยาบ้าเกิน 5 เม็ด จะส่งต่อระบบประสาทชัดเจน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตตามมา ทำให้เกิดอาการหวาดระแวง ก่อเหตุรุนแรงหรือทำลายผู้อื่นได้


สำหรับขั้นนตอนต่อจากนี้ จะนำมติที่ได้เสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และออกเป็นร่างประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนประชาพิจารณ์ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีกระบวนการหลายขั้นตอน


ทางด้าน พล.ต.ท. คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวเพิ่มเติม ในกรณีมีการตรวจจับผู้ที่ถือครองยาบ้ามากกว่า 5 เม็ด จะถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีโทษเท่ากับการนำเข้าการผลิตและการจำหน่ายเช่นกัน แต่ทั้งนี้ในกรณีที่พบบางรายที่ถือครองยาบ้าน้อยกว่า 5 เม็ด แต่มีพฤติการณ์ที่สรุปได้ว่า เป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายก็จะถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน สำหรับโทษทางกฎหมาย ผู้ครอบครองยาเสพติด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี ปรับ 20,000 บาทถึง 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากครอบครองเพื่อ จำหน่าย มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 1 - 5 ล้านบาท


ทั้งนี้ การกำหนดใช้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขในฉบับดังกล่าวจะเป็นการกำหนด ปริมาณการครอบครองเพื่อจำแนกผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อการค้า ซึ่งในกรณีของผู้เสพจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ที่ถือว่าเป็นผู้ป่วย แต่หากเป็นผู้ครอบครองเพื่อค้าจำหน่ายจะถูกดำเนินคดี

คุณอาจสนใจ

Related News