สังคม

สคบ.แจง ตีความกฎหมายคลาดเคลื่อน ยัน 'หนังสือ' ไม่ต้องมี มอก. ไม่เข้าข่ายสินค้าควบคุมฉลาก

โดย nut_p

29 ต.ค. 2566

596 views

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อ "หนังสือต้องมีฉลาก วิบากกรรม สคบ." กรณีคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก อาศัยอำนาจตาม มาตรา 30 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งรวมถึงหนังสือและแบบเรียน ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ 2565 ในบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยผู้ผลิตหรือ ผู้สั่งหรือผู้นำเข้า มาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องจัดทำฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากและ ต้องมี มอก. จึงร้องเรียนให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว



สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ขอชี้แจงว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก” กล่าวคือ สินค้าใดปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย จึงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำฉลากของสินค้าให้ถูกต้องก่อนขายตามมาตรา 30 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีการแก้ไขนิยามคำว่า “โรงงาน” อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลัง รวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตามเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานทีกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นผลให้สินค้าที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสินค้าที่ผลิตโดย “โรงงาน” จะหลุดจากการเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคสาม กำหนดให้สินค้าที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น คณะกรรมการฯ จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2565 และบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ, 2565 โดยพิจารณาประเภทสินค้าที่กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ มาจากกลุ่มประเภทของสินค้าของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์



อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากเพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าแก่ผู้บริโภค การกำหนดให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการกำหนดมาตรฐานของสินค้าแต่ประการใด ในส่วนการกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ (มอก.) อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายแตกต่างกัน ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานนั้นๆ เพราะฉะนั้น สินค้าที่ควบคุมฉลากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจึงไม่มีข้อกำหนดให้ต้องระบุเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในส่วนของแบบเรียนหนังสือ ก็ไม่ต้องระบุเครื่องเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เช่นเดียวกัน ดังนั้น ข้อความตามที่ปรากฏเป็นข่าว จึงมีความคลาดเคลื่อนและมีความเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย



ทั้งนี้ สคบ. มิได้นิ่งนอนใจในกรณีดังกล่าว และนำประเด็นดังกล่าวหารือกับคณะกรรมการว่าด้วยฉลากอีกครั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News