สังคม

สรุปดรามา! 'ปังชา' ใช้ชื่อเหมือน - เมนูคล้าย ร้านเครียดถูกเรียก 102 ล้าน สงสัยผิดจริงไหม?

โดย paweena_c

30 ส.ค. 2566

1.4K views

สรุปดรามา! “ปังชา” เรื่องราวต่าง ๆ มีที่มาที่ไป เป็นอย่างไร 3plusnews จะสรุปให้เข้าใจใน 10 ข้อ

1. เฟซบุ๊กเพจ “Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant” โพสต์รูปภาพเมนูของร้านที่มีชื่อว่า “ปังชา” พร้อมข้อความระบุว่า “แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์ จดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย”

2. ในโลกโซเชียลก็เกิดคำถามขึ้นว่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า ครอบคลุมแค่ไหน รวมถึงสามารถทำเมนูที่คล้ายกัน มีขนมปังและชาเหมือนกัน ออกมาขายได้หรือไม่

3. เฟซบุ๊กเพจ “ปังชา” ซึ่งเป็นของร้านที่จังหวัดเชียงราย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับหนังสือบอกกล่าว หรือ โนติส จากบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านลูกไก่ทอง เรียกเงิน 102 ล้านบาท จากการละเมิดชื่อทางการค้า ไปยังร้านที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีอยู่ 2 ร้าน คือ “ปังชา มาม่าต้มยำ” ที่ตั้งในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และ “ปังชา” ที่ตั้งอยู่ริมถนน

4. คุณนิว เจ้าของร้านที่เชียงราย บอกว่า ทางร้านไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลอกเลียนแบบหรือใช้ชื่อซ้ำกัน แต่เป็นเพียงการตั้งชื่อจากการขายเมนูขนมปังและน้ำชา จึงตั้งชื่อปังชา และเปิดกิจการเล็ก ๆ ริมถนนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 แต่ถ้าหากผิดจริงก็พร้อมเปลี่ยนชื่อ เพราะไม่อยากไปต่อสู้กับทุนใหญ่ ขอขายของในกิจการเล็ก ๆ

5. สำหรับร้านของคุณนิว ใช้ชื่อว่า “ปังชา” ในภาษาไทย ส่วนในภาษาอังกฤษ สะกดว่า “Pung cha” ต่างจากร้านที่ยื่นจดสิทธิบัตร ซึ่งสะกดว่า “Pang cha” ส่วนเมนูซึ่งขายในร้านของคุณนิว ก็ใช้ชื่อว่า “ปังเย็น” ไม่ใช่ “ปังชา”

6. คุณนิวเล่าอีกว่า ตั้งแต่ได้โนติสมา เครียดมากจนนอนไม่หลับ ไม่รู้จะนำเงิน 102 ล้านบาทจากที่ไหนมาจ่าย กลัวว่าจะล้มละลาย จึงเปลี่ยนชื่อร้าน “ปังชา มาม่าต้มยำ” ที่อยู่ในห้าง ส่วนร้าน “ปังชา” ที่อยู่ริมถนน กำลังอยู่ระหว่างปรึกษาทนายความและหน่วยงานภาครัฐ

7. คุณนิวฝากเพิ่มเติมว่า อยากเรียกร้องให้ผู้ที่รู้กฎหมายหรือหน่วยงานภาครัฐเข้ามาชี้แจง คำว่า “ปังชา” ที่เป็นภาษาไทยสามารถใช้ได้หรือไม่

8. ต่อมา เฟซบุ๊กเพจ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงความแตกต่าง ของ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร รวมถึงบอกว่า ร้านดังกล่าว จดสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ คือถ้วยที่ใช้ใส่ ส่วนเมนู น้ำแข็งไสราดชาไทย ใคร ๆ ก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลาย หรือแบบของภาชนะ ที่มีการสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ไปใช้ รวมถึงไม่ควรใช้รูปแบบตัวอักษร ที่ทำให้นึกถึงแบรนด์นั้น

9. หลังจากนั้น เฟซบุ๊กเพจ “Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant” ชี้แจง ขออภัยที่มีการสื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน น้อมรับคำติชม คำแนะนำ

10. ทนายนิด้า ได้ออกมาให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า กรณีการจดสิทธิบัตร ตัวถ้วยของร้าน ถือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เฉพาะ บุคคลอื่นหรือร้านอื่นจะทำตามไม่ได้ และโลโก้ที่ร้านยื่นจดทะเบียนไว้ ก็ทำตามไม่ได้ หรือออกแบบให้ใกล้เคียงก็ไม่ได้เช่นกัน สำหรับคำว่า “ปังชา” หรือ “ชาไทย” ทุกคนสามารถใช้ได้ เพราะเป็นคำสามัญ บรรยายถึงคุณลักษณะของสินค้า ส่วนภาษาอังกฤษ “Pang Cha” ที่อยู่ในโลโก้ ทางร้านได้ยื่นคำขอไปแล้ว จึงใช้ไม่ได้


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดรามา! 'ปังชา' ร้านดังแจง จดสิทธิบัตรแค่ถ้วยภาชนะ ส่วนน้ำแข็งไสราดชาไทย ร้านอื่นยังขายได้


คุณอาจสนใจ

Related News