สังคม

หน้าฝนระวัง 'โรคไข้ดิน' แพทย์เตือนเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงเสียชีวิตหากติดเชื้อ

โดย nut_p

6 ก.ค. 2566

77 views

หน้าฝนนี้ต้องระวัง! แพทย์เตือนเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงเสียชีวิตหากติดเชื้อ 'โรคไข้ดิน' หลังอีสานตอนล่างป่วยแล้วกว่า 300 ราย



วันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ทำให้ฝนตกมีน้ำท่วมขังหรือพื้นดินเปียกชื้น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้ออกมาเตือนผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับดิน และน้ำโดยตรง อย่างเกษตรกร และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคเมลิออยโดสิสหรือโรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ ซึ่งหากจำเป็นต้องทำงานสัมผัสกับดิน และน้ำที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรสวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกัน และเมื่อเสร็จภารกิจให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยสบู่ และน้ำสะอาดทันที และหากมีอาการไข้สูงติดต่อกันเกิน 5 วัน ควรรีบพบแพทย์



นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ



1. การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน

2. ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

3. สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป



หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา



สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยสิส หรือโรคไข้ดิน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคเมลิออยสิส จำนวน 327 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็นรายจังหวัดดังนี้ นครราชสีมา ผู้ป่วย 56 ราย เสียชีวิต 1 ราย ชัยภูมิ ผู้ป่วย 31 ราย บุรีรัมย์ ผู้ป่วย 159 ราย และสุรินทร์ ผู้ป่วย 81 ราย โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 54.74 รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 23.55



การป้องกันโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง หากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค

คุณอาจสนใจ