สังคม

ถึงเวลาลดขยะพลาสติก ก่อนจะล้นโลก

โดย thichaphat_d

23 มิ.ย. 2566

106 views

แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่จัดทำโดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง


ปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังยกเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกันปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรให้ความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยในปี 2564 มีขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว หรือ Single-use Plastics เกิดขึ้นภายหลังการบริโภคประมาณ 2.76 ล้านตัน คิดเป็น 11% ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งจำนวนนี้มีการคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 19% ตกค้างในสิ่งแวดล้อม 3% และถูกนำไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะ 78% โดยจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติก อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถึง 63% รองลงมาเป็นฟิล์มพลาสติก อาทิ ฟิล์มหุ้มสินค้า ซองไปรษณีย์พลาสติก 13% ส่วนที่เหลือเป็น ขวด ฝาขวด แก้ว ชาม กล่องถาด กล่องโฟม ช้อน ส้อม มีด หลอด และอื่น ๆ ร้อยละ 24%

ถึงแม้ว่าขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ประชาชนยังไม่นิยมในการเก็บรวบรวมนำมาขาย เนื่องจากขยะประเภทนี้มักมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกสูง น้ำหนักเบา ยากต่อการขนส่ง จึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการของผู้รับซื้อของเก่า ปัจจุบันปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของประเทศไทย มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกที่เกินความจำเป็นของผู้บริโภค และผู้บริโภคไม่มีการคัดแยกและไม่ทำความสะอาดก่อนทิ้งในการทิ้ง ยิ่งทำให้ขยะพลาสติกมีความสกปรกปนเปื้อน จนยากต่อการนำกลับมารีไซเคิล ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นเหตุให้มีการใช้บริการสั่งอาหารดิลิเวอรีและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ จำเป็นที่จะต้องเร่งรับมือ ในการจัดการขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น



แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายให้ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด และถุงพลาสติกหูหิ้ว เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง 100% และผลิตภัณฑ์พลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล 50% และจะต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อเป็นกรอบให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เเต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนต้องตื่นตัวเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปพร้อม ๆ กับภาครัฐ วันนี้ฟ้าใส ขอย้ำเตือนวิธีง่าย ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดขยะพลาสติก

ลดการรับ

โดยเริ่มต้นที่การปรับพฤติกรรมการซื้อของโดยงดรับพลาสติกที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียว เช่น การพกกระติกน้ำเพื่อรีฟิลเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก ใช้ถุงผ้าในการชอปปิงเพื่องดรับถุงพลาสติก ปฏิเสธอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอด ช้อนและส้อมพลาสติก รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ปิ่นโตเมื่อซื้ออาหารเพราะนอกจากสะดวกเวลาทานที่ไม่ต้องแกะถุงพลาสติกยังสะอาดปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้หากมีความจำเป็นต้องรับจริง ๆ ก็พยายามเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย หรือสามารถนำกลับมาได้

ปรับการทิ้ง

เมื่อปรับพฤติกรรมการก่อให้เกิดขยะแล้ว เมื่อต้องทิ้งขยะก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมการทิ้งเพื่อให้ขยะพลาสติกเหล่านั้นมีที่ไปต่อ เช่น ถูกนำไปใช้ซ้ำหรือนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยทุกครัวเรือนต้องมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือเป็นวัสดุเหลือใช้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระป๋อง ขวดน้ำ เศษพลาสติก ที่สามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ขยะประเภทนี้จะมีมูลค่าสามารถเก็บไว้ขายให้กับคนที่รับซื้อของเก่า เนื่องจากสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้ ปัจจุบันนี้คนจำนวนมากยังไม่แยกขยะ โดยอ้างว่าสุดท้ายขยะที่แยกก็จะถูกนำไปทิ้งรวมกันอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่หากมีการแยกขยะอย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการทำความสะอาดขยะเหล่านั้นเพื่อไม่ให้มีปนเปื้อนเศษอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล  เพราะขยะพลาสติกที่ไม่มีการปนเปื้อนเศษอาหารเท่านั้นที่จะถูกนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่ถ้าเป็นขยะพลาสติกถูกปนเปื้อนแล้วจะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ

หากทุกคนช่วยกันลดขยะ อย่างน้อยวันละชิ้น ใน 1  ปี เราจะสามารถลดขยะไปได้ถึง 365 ชิ้น และหากช่วยกันลดขยะกันทุกคนก็จะสามารถช่วยลดขยะบนโลกใบนี้ได้มากมายมหาศาลเลย เรามาเริ่มลด ละ เลิก การสร้างขยะในชีวิตประจำวันไปด้วยกันนะคะ เพื่อโลกที่น่าอยู่ของเราทุกคน


โดย...ฟ้าใส

คุณอาจสนใจ

Related News