สังคม
อย่าเพิ่งตื่นตูม ‘ซีเซียม-137’ นักวิชาการชี้ ขนาดเล็กอันตรายต่ำ เข้าสู่ร่างกายกำจัดเองได้ใน 70 วัน
โดย paweena_c
21 มี.ค. 2566
1.2K views
อย่าเพิ่งตื่นตูม ‘ซีเซียม-137’ นักวิชาการชี้ขนาดเล็กอันตรายต่ำ ถูกหลอมเจือจางกลายเป็นฝุ่น เข้าสู่ร่างกายกำจัดเองได้ใน 70 วัน
จากกรณี ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ หายปริศนาจากโรงไฟฟ้า ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนไม่น้อย ข้อมูลหลากหลายถูกส่งต่อถึงอันตรายของสารตัวดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และระบบนิเวศ แต่หากลองฟังข้อมูลอีกด้านจากนักวิชาการ เราอาจจะไม่ต้องกังวลกันขนาดนั้นก็ได้
พูดคุยกับ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า ข้อมูลที่เสนอในโซเชียล และสื่อต่าง ๆ ขณะนี้สร้างความตื่นตระหนกมากไป จึงอยากสร้างความเข้าใจให้กับประชนชนว่า สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่มีอยู่ในตอนนี้ อยู่ในระดับไมโครกรัม ซึ่งมีปริมาณที่น้อยมาก ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ใกล้ชิดสารตัวดังกล่าว ไปผ่า หรือไปจับสารเพื่อนำไปเผา ก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะสารที่ถูกหลอม ได้รับการเจือจางจนกลายเป็นฝุ่น และในที่สุดก็อยู่ในระดับที่ไม่อันตราย
ปลอดภัยไหม? ขึงผ้าใบกั้นพื้นที่ ‘ฝุ่นแดงซีเซียม-137’
จากข้อมูลตอนนี้ ซีเซียม-137 มีสารกัมมันตรังสีอยู่ในระดับ 41 mCi (มิลลิคูรี) ปริมาณเท่านี้ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ถือว่าอยู่ในระดับรุนแรง เพราะซีเซียมระดับไมโครกรัม เมื่อใส่ในเตาเผา สารตัวดังกล่าวจะเจือจางและเหลือความเข้มข้นที่ต่ำมาก จนกระทั้งวัดระดับสารได้เพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้น สำนักงานปรมาณูฯ ก็ต้องเร่งหาให้เจอ และสร้างความกระจ่างให้กับประชาชน
“จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องวัดสารกัมมันตรังสีที่ปล่อยออกจากฝุ่นแดงในถุงบิ๊กแบ๊คของโรงงาน เมื่ออยู่ห่างระยะ 5 เมตร จะวัดสารไม่ได้ แต่ถ้าเดินเข้าไปใกล้เรื่อย ๆ ก็จะสามารถวัดระดับสารกัมมันตรังสีได้ ดังนั้นที่เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้ผืนผ้าใบพลาสติกปิดกั้นไว้ แค่นี้ก็ถือว่าปลอดภัยแล้ว เขาแค่กันคนไม่ให้เข้าใกล้ ไม่ได้กันสารกัมมันตรังสีแผ่ออกมา เพราะระยะมันกระจายได้ไม่ไกล มีอากาศเป็นตัวกั้นอยู่แล้ว”
นักวิชาการชี้ ‘ซีเซียม-137’ เจือจาง ร่างกายกำจัดได้ภายใน 70 วัน
แน่นอนความกังวลของประชาชนยังอยู่ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ แบบนี้เราจะสามารถดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อออกนอกพื้นที่แล้วกลับเข้าบ้าน ต้องรีบอาบน้ำล้างตัวเพื่อป้องกันฝุ่นกัมมันตรังสีไหม? เรื่องนี้ อ.สธน บอกว่า “ไม่ต้องขนาดนั้น แค่ไม่ไปคลุกฝุ่นแดงก็พอ”
อาจารย์เปรียบเทียบว่า การที่เราไปเที่ยวแหล่งแร่ดีบุก เที่ยวทะเล หรือนั่งเครื่องบิน ก็ได้รับสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ จากธรรมาชาติอยู่แล้ว และอาจจะเข้มข้นกว่าสารซีเซียม-137 ที่ถูกเจือจางแล้วในขณะนี้ก็ได้ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะถึงแม้เราทานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเข้าไป ร่างกายก็จะกำจัดของเสียออกมาได้ภายในระยะเวลา 70 วัน ทางปัสสาวะ อุจจาระ และสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อยู่แล้ว ส่วนปัญหาในระยะยาวก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง เพราะทุกวันนี้แม้เรารับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไป ก็ยังคงเสียงต่อการเป็นมะเร็งอยู่ดี
ส่วนข่าวลือที่ว่า กินไอโอดีน ป้องกันสารกันมันตรังสีนั้น สามารถป้องกันได้เพียงรังสีไอโอดีนเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันรังสีตัวอื่นได้ ส่วนที่มีอาจารย์บางท่านแนะนำว่า ให้รับประทานสารบางตัวเพื่อช่วยให้ร่างกายดักจับและไม่ดูดซึมสารรังสี ส่วนนี้มองว่ายังไม่จำเป็น เพราะปริมาณสารซีเซียมที่มีอยู่ในตอนนี้ ยังไม่ต้องตื่นตูมหามากิน
คุมเข้มมาตรฐานโรงงาน สนับสนุนความรู้ ‘กัมมันตรังสี’ พื้นฐานให้ประชาชน
สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ ปิดพื้นที่โรงงานหลอม ตรวจสอบหากมีสิ่งไหนปนเปื้อนต้องทำการเก็บ ต้องขนย้ายฝุ่นแดงไปไว้ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ตรวจรอบบริเวณโรงงานไม่ให้มีสารตกค้าง หรือถ้ามีเหลือก็ต้องมีปริมาณต่ำ และไม่เป็นอันตราย แต่โดยรวมแล้วยังไม่ต้องอพยพประชาชน
อีกสิ่งที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ต้องสืบให้ได้ว่า โรงงานรับเอาสารดังกล่าวมาเผาได้ยังไง และก่อนเผาได้ศึกษาก่อนหรือไม่ รวมทั้งย้อนกลับไปดูที่โรงงานต้นเรื่องว่าปล่อยให้กัมมันตรังสีที่อันตรายแบบนี้ หายจากไปโรงงานได้อย่างไร เพื่อเป็นการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ทั้งนี้ความรู้ด้านกัมมันตรังสี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรสนับสนุน ให้เป็นความรู้พื้นฐานแก่ประชาชน