สังคม

โศกนาฏกรรมต่อเนื่อง ปัญหาคนกับช้าง สู่คำถาม “ทำไมช้างป่าทำร้ายคน”

โดย paweena_c

19 ธ.ค. 2565

258 views

โศกนาฏกรรมต่อเนื่อง ปัญหาคนกับช้าง สู่คำถาม “ทำไมช้างป่าทำร้ายคน”

ปัญหาช้างป่ากับคนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากข่าวที่มีช้างบุกเข้าพื้นที่การเกษตร เข้าเขตชุมชน ทำร้ายข้าวของประชาชนเสียหาย การเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับช้าง บ้างก็เป็นคนที่ถูกช้างทำร้าย บ้างก็เป็นช้างที่ถูกคนทำร้าย


เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพียงครึ่งเดือน มีข่าวคนถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตมากถึง 6 ราย

- 2 ธันวาคม 65 จ.ฉะเชิงเทรา เกิดเหตุช้างเหยียบชาวบ้านอ่างเสือดำ เสียชีวิต 1 ราย ต่อมาในพื้นที่ใกล้กัน พบศพชาวบ้านหินแร่ มีร่องรอยถูกช้างเหยียบ เสียชีวิต 1 ราย รวมวันเดียว 2 ศพ

- 11 ธันวาคม 65 จ.ฉะเชิงเทรา ช้างป่าสีดอ ใช้งวงรัดชาวบ้านอ่างเสือดำ เหวี่ยงฟาดลงพื้นสาหัส ก่อนเหยียบชาวบ้านอีกราย ดับกลางป่าสวนยางพารา หลังจากนั้นเพียงชั่วโมง ช้างป่าสีดอได้เหยียบชาวบ้าน อีก 1 ราย ห่างจากจุดแรกไปไม่ถึง 1 กม. รวมเสียชีวิต 2 สาหัส 1 ราย

- 11 ธันวาคม 65 ที่ จ.เลย บริเวณเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง ชาวบ้านออกหาของป่า ถูกช้างป่าไล่ทำร้าย เสียชีวิตกลางป่า 1 ราย

- 13 ธันวาคม 65 จ.ระยอง ช้างป่าทำร้ายชาวบ้าน ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ ขณะออกไปกรีดยาง ในพื้นที่ เสียชีวิต 1 ราย


ทำไม่ช้างหาอาหารนอกป่า มีป่าไม่พอช้าง หรือมีช้างมากกว่าป่า?

เหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายคนเสียชีวิต มีถึง 4 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในจังหวัดเขตป่ารอยต่อ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ที่มีเนื้อที่ราว 1.4 ล้านไร่


จากข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบมีจำนวนช้างเพิ่มขึ้น 8% ทุกปี ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่กลุ่มป่ารอยต่อ สามารถรองรับช้างได้ 323 ตัว เท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจประชากรช้างปี 2564 พบ 470 ตัว และคาดว่าปัจจุบันมีประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ตัว เกินศักยภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติ


ประชากรช้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้พบช้างออกมาหากินนอกเขตพื้นที่ป่ามากขึ้น เข้าพื้นที่ชุมชน ก่อให้เกิดความเสียหายทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน โดยทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มีแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดทีม “เฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า” เป็นการคืนช้างสู่ป่าอย่างสันติ และไม่ใช้ความรุนแรง


สร้างป่า ผลักดันช้างกลับสู่ป่า แก้ปัญหาช้างกับคน

เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ในช่วงนี้มีเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายคนมากขึ้น เนื่องจาก ในฤดูหนาวเป็นช่วงฤดูที่ช้างสะสมพลังงานไว้เยอะ ทำให้หลายตัวตกมัน บวกกับการผลักดันช้างกลับเข้าป่าของเจ้าหน้าที่ อาจทำให้ช้างเกิดความหงุดหงิด เมื่อเผชิญหน้ากับคนอาจทำให้มีนิสัยก้าวร้าวได้


ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแผน 10 ปี การจัดการช้างป่า ระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2572 เพื่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่การกระจายของช้างป่า โดยเฉพาะกลุ่มป่าตะวันออกรอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง


มีการทำรั้วเพื่อกันช้างออกนอกแนวเขตป่า แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ผลมากนัก ขณะเดียวกันจากปริมาณช้างที่ล้นพื้นที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯเอง ก็มีการเสริมเรื่องแหล่งน้ำ เติมแหล่งอาหาร ให้ป่ามีความอุดมสมบุรณ์เพียงพอต่อประชากรช้าง ขณะเดียวกันมีการจัดเจ้าหน้าที่ เพื่อคอยผลักดันช้างกลับสู่ป่าอยู่เสมอ


ช้างก็ป่วยได้ ไม่สบายจึงทำร้ายคน!

‘หมอล็อต’ ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มุมมองเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงของช้างกับคนว่า อาการป่วยหรือโรคบางอย่างในช้าง อาจทำให้ช้างเครียด หงุดหงิด และอาละวาด ปัจจัยที่น่าสงสัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ช้างทำร้ายคน จึงคาดว่าเกิดจากตัวช้างเอง มีโรคหรือมีอาการป่วยอยู่ในตัวหรือไม่


โรคที่เกิดจากพยาธิในเลือด เป็นอีกโรคที่เคยมีประวัติพบในพื้นที่ป่าตะวันออกเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ โดยปกติพยาธิเหล่านี้มักจะพบในเลือดและไขสันหลัง แต่หากเชื้อเข้าสู่สมอง ช้างจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และจะเกิดความเครียด มีพฤติกรรมหงุดหงิด อาละวาด และอาจทำร้ายคน เช่นเดียวกันหากเกิดในสัตว์อื่น เช่น วัวหรือม้า ก็จะทำให้สัตว์เหล่านั้นก้าวร้าวหรืออาละวาดได้เช่นกัน


“การติดโรคดังกล่าว เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่เคยมีการระบาดอยู่เดิมในพื้นที่ และการที่โดยรอบป่ามีพื้นที่เพราะเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งมีการระบาดของโรคดังกล่าวในสัตว์เลี้ยง เชื้อดังกล่าวก็สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่ช้างป่าได้”


อย่างไรก็ตาม ‘หมอล็อต’ กล่าวว่า นี่เป็นเพียงหนึ่งในสมมุติฐานใหม่ทางด้านสุขภาพของสัตว์ อย่างช้างป่า ในเรื่องของสุขภาพความเจ็บป่วยกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ซึ่งหากเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ‘ช้างป่า’ ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว




คุณอาจสนใจ

Related News