สังคม

เพราะรักจึงต้องทำร้าย? สังคมสูญเสียไปมากเท่าไหร่ กับความรุนแรงและฆาตกรรมในครอบครัว

โดย paweena_c

11 ต.ค. 2565

150 views

ข่าวความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายร่างกายระหว่างคนรัก ความสูญเสียที่เกิดจากความสัมพันธ์ เกิดเป็นวงเสวนาที่ว่าด้วยการ “ถอดรหัสรัก…สู่ความรุนแรงและฆาตกรรม” ที่ชวนมองถึงสาเหตุและโครงสร้างของปัญหา โดยหวังว่าจะนำพาไปพบกับทางออก



สถานการณ์ความรุนแรงของคู่รักที่มีแนวโน้มสูงขึ้น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหน้าหนังสือพิมพ์ พบว่ามีเหตุการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะข่าวฆ่ากันตายในคู่รัก สามี-ภรรยา สูงเป็นอันดับ 1 โดยปี 2563 มี 323 ข่าว หรือ 54.5% เป็นสามีกระทำต่อภรรยา 105 ข่าว หรือ 60% คู่รักแบบแฟน 18 ข่าว หรือ 47.4%



สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความหึงหวง การกลัวอีกฝ่ายนอกใจ ตามง้อไม่สำเร็จ อีกทั้งพบว่าก่อเหตุโดยมีแรงกระตุ้นจากเหล้า และยาเสพติด ทำให้ขาดสติ โดยอาวุธที่ใช้ส่วนใหญ่คือปืน อีกทั้งวัฒนธรรมอำนาจนิยม ความคิดชายเป็นใหญ่ ที่มองผู้หญิงหรือลูกเป็นสมบัติ จะทำอะไรก็ได้ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา การกระทำความรุนแรงในนามของ “ความรัก”



อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บสถิติการเกิดความรุนแรงในครอบครัว พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบเป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว (เฉพาะที่เป็นข่าว) สูงกว่าปีละ 600 กรณี ในจำนวนนี้ 300 กรณี เป็นการเสียชีวิต โดยพบเป็นความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยามากที่สุด รองลงมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่การฆ่ายกครัว ที่พบเห็นมากขึ้น



นอกจากนี้ยังพบว่า อาวุธที่ใช้ในการก่อเหตุอันดับต้น ๆ คือ ปืน รองลงมาคือ มีด และ ตามด้วยการใช้กำลังจากร่างกาย แต่จากที่พบส่วนใหญ่ การกระทำที่นำไปสู่การฆาตกรรม มักจะมีสาเหตุมาจากปืน



“ปืนเป็นเรื่องของอำนาจ จึงควรจะต้องมีการปรับระบบใบอนุญาตใหม่ จากเดิมที่แค่มีใบอนุญาตหนึ่งครั้ง ก็สามารถเป็นมรดกตกทอดได้ ควรเปลี่ยนเป็นต่ออายุทุก 2-3 ปี เพื่อตรวจสอบว่ามีสายตาดี สุขภาพจิตดี สามารถครอบครองได้หรือไม่ กฎหมายครอบครองอาวุธปืน จึงเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยน เพื่อให้ป้องกันการใช้อาวุธอันตราย ที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการก่อเหตุ”



นอกจากนี้ จากข่าวที่เห็นจะเป็นการกระทำจากคนที่มีสี ซึ่งเดิมคนเหล่านี้มักถูกกดทับจากโครงสร้างองค์กรอยู่แล้ว และเมื่อความเครียดสะสม บวกกับเป็นบุคคลที่มีอาวุธปืน สุดท้ายเมื่อลงมือกับคู่รัก ก็ส่งผลให้เกิดการฆาตกรรมได้ง่ายขึ้น



อดีตแสนเจ็บปวด จากการกระทำในนามของ “ความรัก”

นางสาวบี (นามสมมุติ) ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนรัก กล่าวถึงอดีตแสนเจ็บปวดว่า ตอนวัยรุ่นมีแฟนที่ค่อนข้างเกเร พอคบได้ประมาณหนึ่งปี เขาก็เริ่มมีอาการหึงหวง ไปไหนก็ต้องคอยตามอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตนรู้สึกอึดอัด และพยายามบอกเลิก แต่ฝ่ายชายก็ยังตามมาเจอ มาเฝ้าหน้าโรงเรียนจนรำคาญ จึงบอกไปว่ามีแฟนใหม่แล้ว และคาดว่าคงสร้างความแค้นเคืองให้ จึงถูกสะกดรอยตามนานกว่าสามเดือน



กระทั่งวันหนึ่ง ตนกับเพื่อนเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ระหว่างเดินกลับบ้าน ผู้ชายคนดังกล่าวมาดักรอ และสาดน้ำกรดใส่ ตนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานหลายเดือน การกระทำที่ไม่ใช่แค่สร้างบาดแผลให้กับร่างกาย แต่จิตใจของเธอก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เธอใช้เวลานานกว่า 3 ปี กว่าจะกล้าออกมาใช้ชีวิต



สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ทำให้นางสาวบี เคยทำร้ายตัวเองด้วยการพยายามจบชีวิต แต่โชคดีที่พี่สาวและแม่มาพบ และช่วยเหลือไว้ได้ทัน หลังจากนั้น เธอถูกประคับประคองจิตใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้เธอกลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเริ่มเปิดใจที่จะทำงานช่วยเหลือผู้อื่น อยากเล่าเหตุการณ์ เพื่อเป็นบทเรียน เป็นอุทาหรณ์ ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ให้ลุกขึ้นมาสู้กับปัญหา และยินดีให้คำปรึกษากับเพื่อนผู้ถูกกระทำ



จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 49 ปี นางสาวบีมีความเข้มแข็ง และสามารถบอกเล่าประสบการณ์ ช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนผู้ก่อเหตุนั้น หลบหนีไปจนคดีสิ้นสุด 20 ปี ไม่มีใครทราบข่าวคราวอีกเลย และทุกวันนี้ก็ยังคงลอยนวล




กลับมาสู่การแก้ปัญหา นางสาวอังคณา กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำ และลดการกระทำซ้ำ รวมทั้งเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายจากบุคคลที่ควบคุมกฎหมาย



“กรณีที่เห็นได้บ่อยคือ ตำรวจมักมองคดีนี้เป็นคดีครอบครัว บางคนคิดว่าเดี๋ยวก็จูบปากกัน ดีกัน จึงมักจะให้ยอมความกัน สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่เป็นธรรมกับเหยื่อ และทำให้เหยื่อไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะคิดว่า สุดท้ายก็คงถูกทำให้ยอมความ”



นายเอ (นามสมมุติ) ผู้เคยทำผิดพลาดและต้องชดใช้ด้วยการจองจำ กล่าวว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกัน ส่วนตัวเป็นคนรักสนุก เกเร พอมีแฟนก็คิดว่าเราต้องเป็นผู้นำ แฟนต้องยอมและเดินตามหลัง เมื่ออายุ 26 ปี ตนทำงานขายซีดี รายได้ประมาณเดือนละ 100,000 บาททำให้มองว่า ตนเองมีอำนาจมากในครอบครัว



ตนทำร้ายจิตใจแฟน นอกใจ และใช้ถ้อยคำรุนแรง และคิดว่าแฟนต้องยอมรับเรื่องแบบนี้ให้ได้ จนกระทั่งคืนเกิดเหตุขณะกินเหล้าอยู่กับเพื่อน เมื่อแฟนโทรมาหลายครั้ง แล้วมาตามที่วงเหล้าทำให้รู้สึกเสียหน้า เมื่อกลับไปถึงบ้าน จึงทะเลาะและทำร้ายแฟนจนแน่นิ่งไป



สุดท้ายเมื่อได้สติจึงรีบนำแฟนส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตแฟนได้ ในตอนนั้นเหมือนหัวใจหล่น บอกพยาบาลให้โทรเรียกตำรวจ ตนยอมรับผิด และสารภาพทุกอย่าง ยอมรับว่าเสียใจมากที่กินเหล้าแล้วโมโห ทำร้ายแฟนจนเกินกว่าเหตุ ความคิดตอนนั้น แม้ติดคุกก็ไม่สาสม รู้สึกเกลียดตัวเอง  สุดท้ายเมื่อคิดได้ จึงอยากจะให้ความผิดพลาดของตนเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อลดปัญหาการทำร้ายร่างกาย



“ทุกคนสามารถเกลียดผมได้ ไม่ผิด แต่อยากให้เรื่องราวเป็นอุทาหรณ์ ตอนนี้สภาพจิตใจดีขึ้น แต่ยอมรับว่าตราบาปในใจยังไม่เคยหายไปไหน สุดท้ายอยากบอกว่า ความรักไม่มีใครชนะ ให้นึกถึงตอนแรกที่จีบกัน นับ 1 ถึง 10 เพราะถ้าทำพลาดไปมันจะเป็นแบบผม”



“รักกันจนตาย” การสังหารในนามของความรัก

“เคสที่ผ่านมาไม่ควรเรียกมันว่า ความรัก เพราะความรักจะไม่มากับความรุนแรง” ดร.ชเนตตี กล่าวในงานเสวนา



ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในนามของความรัก แท้จริงคือ ความนุ่ม ความโรแมนติก แต่เพราะเราเข้าใจนิยามความรักผิด วาทกรรมความรักโรแมนติก จึงทำให้เราคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องมอบความรักให้กับเรา เมื่อนิยามความรักผิด และจัดวางความรักว่า “โรแมนติก” จึงมีการทำลายล้างสูงมาก



“การพิสูจน์รักแท้ และเรียกร้องความสมบูรณ์แบบ ทำให้ รักทำร้ายคู่ชีวิต เช่นเธอเป็นผู้หญิงของฉัน ฉันเป็นผู้ชายของเธอ เพราะเข้าใจว่าความรักจะต้องสนองตอบ เช่น ภรรยายอมให้สามีทุบตี “เพราะรัก” และคำพูดที่มักจะได้ยินคือ “รักกันจนตาย” เพราะมีหนึ่งชีวิตที่ต้องจากไปก่อน ทำให้เกิดการสังหารในนามของความรักขึ้น”



ดร.ชเนตตี แนะแนวทางของการแก้ปัญหาในครอบครัวว่า 1. แยกคดีฆาตกรรมในครอบครัวออกจากคดีฆาตกรรมอื่น ถอดบทเรียนวิเคราะห์จะได้เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่และแก้ไขปัญหา 2. เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องความสัมพันธ์ชาย หญิง การเข้าสู่ความสัมพันธ์ ที่ต้องเคารพความเสมอภาค เคารพสิทธิเนื้อตัวของผู้อื่น และรู้จักการถอยออกจากความสัมพันธ์ด้วยความเคารพต่อกันและกัน ทั้งนี้หากทำตรงนี้ได้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ เมื่อเติบโตขึ้น สามารถแยกแยะความสัมพันธ์ และสามารถกลั่นกรองสื่อต่าง ๆ ได้  



รักคือการเสี้ยมสอนจากสังคม ความรักจึงเป็นปัญหาระดับสังคม


เราจึงไม่ควรโทษเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในครอบครัว ว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะความรักเป็นปัญหาระดับสังคม ทุกวันนี้พอถึงวัยที่มีความรัก เราปล่อยให้เยาวชนไปจีบกันเองแล้วบอกว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ แท้จริงแล้ว ความรักคือการเสี้ยมสอน และการปลูกฝังโดยสังคม เราปล่อยให้เด็กเรียนรู้ความเจ็บปวดโดยลำพัง โดยที่เราไม่ได้บอกวิธีหรือถอดบทเรียนจากคนรุ่นก่อน ซึ่งต้องมองกลับมาสู่หลักสูตรการศึกษาอีกครั้ง



ดร.ชเนตตี ยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี “วิชาจีบ” ซึ่งเป็นการสอนเกี่ยวกับมนุษย์สัมพันธ์ แต่ลำพัง สอนแค่การจีบคงจะไม่พอ จึงควรต้องสอนการเลิกด้วย ตรงนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่การสอนในเรื่องของกฎหมาย ที่ว่าด้วยการหย่าร้าง เพราะตอนที่ออกจากความสัมพันธ์เราจะดูแลตนเองและดูแลคนอื่นอย่างไร



“มีหลายคู่ประสบความสำเร็จจากการออกจากความสัมพันธ์ แต่หลายคู่ไม่จบ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าชีวิตรักไม่ใช่นิจนิรันดร์ ปัจจุบันเราเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์น้อยมาก การเรียนจึงไม่ใช่แค่เพื่อจีบ แต่เรียนเพื่อให้รู้วิธีการเดินออกมา เมื่อความสัมพันธ์ต้องยุติและเลิกรา จะทำอย่างไร ไม่ให้ความรักที่มีตอนนั้น กลายเป็นยาขม จบชีวิตของอีกฝ่าย”



หนึ่งชีวิตดับสูญ อีกหนึ่งเข้าเรือนจำ ทั้งหมดเป็นเพราะเราไม่ได้สอนเรื่องการจากลาในความสัมพันธ์ และนั่นไม่ใช่ความรัก เพราะ ความรุนแรงไม่ใช่ความรัก ดังนั้น ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง แต่ความรักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม ที่ปลายทางจะต้องนำคนสองคน ไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต นั่นก็คือ “เสรีภาพ”



คุณอาจสนใจ

Related News