สังคม

ทร.โร่แจง ความคืบหน้าเรือดำน้ำ ขอเวลาศึกษาเครื่องยนต์เพิ่ม หลังถูกขอเปลี่ยนเป็นของจีน ยันจะใช้งบฯคุ้มค่า

โดย chutikan_o

10 ส.ค. 2565

56 views

ทร.โร่แจง ความคืบหน้าเครื่องยนต์เรือดำน้ำ หลังถูกขอเปลี่ยน จาก MTU 396 ของเยอรมัน เป็น CHD 620 ขีดเส้นคณะทำงาน ทร.ศึกษารายละเอียดด้านเทคนิค ก่อนส่งข้อมูลเพื่อตัดสินใจ ภายใน 15 ก.ย. 65 ยันใช้งบคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ แม้มีอุปสรรคบ้าง




พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงความคืบหน้า การเจรจาระหว่างกองทัพเรือ (ทร.) กับ บริษัท CSOC เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องยนต์ประจำเรือดำน้ำ ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า ก่อนหน้านี้ทางกองทัพเรือได้เชิญบริษัท CSOC มาชี้แจงเครื่องยนต์ที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นทางบริษัทได้เสนอการติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า CHD 620 แทนเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 ของเยอรมัน โดยทางบริษัทได้นำรายละเอียดของเครื่องยนต์ดังกล่าวมาเสนอให้กองทัพเรือพิจารณา ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ทร.ได้มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อสงสัยในรายละเอียดของเครื่องยนต์ดังกล่าว โดยได้ขอให้ทางบริษัทกลับไปดำเนินการส่งข้อมูลตามที่ ทร.ต้องการภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ซึ่งขณะนี้ทางบริษัท CSOC ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้แล้ว และยังคงยืนยันที่จะเสนอเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า CHD 620 โดยบริษัทได้ส่งข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามในประเด็นที่ ทร.ต้องการ รวมถึงได้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดด้านเทคนิคค่อนข้างมาก ทร.จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านเทคนิคของ ทร. ไปพิจารณาในรายละเอียดด้านเทคนิค โดยกำหนดให้ส่งข้อมูลการพิจารณาให้ทราบภายในวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อนำผลการพิจารณามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจต่อไป



โฆษกกองทัพเรือ กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องยนต์ MTU 396 ที่ระบุไว้ว่าจะติดตั้งในเรือดำน้ำตามข้อตกลงการจ้างสร้างเรือดำน้ำระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนนั้น เป็นเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อนำไปประจุไว้ในแบตเตอรี่ โดยเครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าว จะเดินเครื่องในขณะที่เรือดำน้ำอยู่ในความลึกกล้องตาเรือ หรือในขณะที่เรือดำน้ำอยู่บนผิวน้ำเท่านั้น โดยจะไม่มีการเดินเครื่องยนต์ดีเซลในขณะที่เรือดำน้ำกำลังดำอยู่ใต้น้ำที่ความลึกแต่อย่างใด กระแสไฟฟ้าที่ผลิตและเก็บไว้ในแบตเตอรี่นั้น จะนำไปใช้สำหรับเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเรือดำน้ำในขณะปฏิบัติการใต้น้ำ รวมทั้งยังจะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานสำหรับอุปกรณ์ และเครื่องจักรช่วยอื่นๆ ภายในเรือได้อีกด้วยเช่น ไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ เครื่องผลิตออกซิเจน เป็นต้น



“กองทัพเรือขอยืนยันต่อพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ว่างบประมาณที่กองทัพเรือได้รับจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ แม้โครงการจัดหาเรือดำน้ำอาจจะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็จะพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด และขอยืนยันว่าทุกโครงการที่กองทัพเรือดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตามนโยบายของ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ” โฆษก ทร. กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News