สังคม

วันเดียวปฏิเสธเป็นร้อยสาย 'ฮอสพิเทล' โวยถูกให้ปิด สิ้นเดือนนี้ แม้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูง

โดย paweena_c

6 ก.ค. 2565

157 views

'ฮอสพิเทล' โวยรัฐ ถูกให้ปิดสิ้นเดือนนี้ แม้ผู้ติดเชื้อพุ่ง เผยปรับสิทธิรักษาจะเบิกได้ต้องเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น ทำคนขาดโอกาสรักษา  

สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะกลับมาระบาดอีกครั้ง จากที่สังเกตเห็นคนทั่วไปติดเชื้อมากขึ้น รวมถึงแพทย์ที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาคอนเฟิร์มข่าวนี้

แต่ดูเหมือนว่าท่าทีจากรัฐบาลจะสวนทาง จากประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ยกเลิกการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และ ฮอสพิเทล (Hospitel) ให้ยึดตามสิทธิ์เดิม คือให้กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐ ที่เริ่มไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ตามมาด้วย การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม ที่เริ่มวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ส่วนประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่จากเดิมระบุ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ให้ยกเลิกการให้บริการฮอสพิเทลทั้งหมด ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากสถานการณ์โควิดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ทีมข่าว 3PlusNews  ได้พูดคุยกับคุณแหม่ม ที่ปรึกษาและผู้ดูแลฮอสพิเทล (Hospitel) จำนวน 3 แห่ง ที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รับการรักษาอยู่มากกว่า 800 คน ซึ่งยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทรเข้ามาขอรับการรักษาตัวอยู่ทุกวัน


วันเดียวต้องปฏิเสธกว่าร้อยสาย บางส่วนไม่มีเงินจ่ายค่าฮอสพิเทล


4 กรกฎาคม คือวันที่เราคุยกับคุณแหม่ม และในวันเดียวนั้นเธอปฏิเสธผู้ป่วยที่โทรเข้ามากว่า 100 สาย สาเหตุที่ไม่สามารถรับเข้ารักษาได้ ส่วนหนึ่งคือห้องเต็ม แต่อีกสาเหตุที่ทำเอาปวดใจคือ ต้องแจ้งกับผู้ป่วยว่า รัฐไม่จ่ายเงินค่ารักษาให้แล้ว นั่นคือผู้ที่ติดต่อเข้ามาต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด หลายคนที่รู้แล้วไม่มีเงินจ่าย จึงต้องหยุดที่ขั้นตอนนี้แล้วหายไป

“สิ่งที่กังวลคือเมื่อเราแจ้งว่า การรักษาไม่ฟรีแล้ว และต้องจ่ายเงินเอง คนที่หายไปเพราะไม่มีเงิน เขาจะไปอยู่ยังไง กรณีแบบนี้ปฏิเสธไปเป็นร้อยราย ซึ่งปกติก็มีคนโทรเข้ามาเป็นร้อย และมองว่าตอนนี้กำลังเป็นขาขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ เมื่อวานทุกโรงแรมเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แม้มีเงินจ่ายก็ไม่มีห้องให้”


รัฐยกเลิกสิทธิรักษาฟรี Home isolation ,Hotel Isolation ต้องเข้ารักษาสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

ประกาศจากสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เรื่องการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ สำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ระบุว่า

1. ยกเลิกการดูแลรักษาในรูปแบu Home Isolation Community Isolation Hotel Isolation และโรงพยาบาลสนาม การเข้ารับการรักษาประเภทบริการ Hospitel และ OP Self Isolation


2. ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด 19 เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ แบ่งเป็น 1). ประเภทผู้ป่วยนอก เบิกค่าบริการทางการแพทย์รวมอยู่ในระบบเหมาจ่ายตามสัญญาจ้าง ปี ๒๕๖๕ และ 2). ประเภทผู้ป่วยใน เบิกตามระบบ DRGs

3. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่สามารถรับการรักษาที่สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิเบิกค่าบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ของประกาคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

4. ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเข้ารับบริการทางการแพทย์ก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม ๒๕๖๕ และได้รับการรักษาต่อเนื่อง ให้มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565


ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะนำแนวทางดังกล่าวเข้าหารือคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ บริการทางการแพทย์ ในคณะกรรมการการแพทย์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป”


จู่ ๆ ก็ประกาศไม่ผ่านบอร์ดประกันสังคม

คุณแหม่มตั้งข้อสังเกตถึงขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องผ่านบอร์ดเล็กวันที่ 4 และผ่านบอร์ดใหญ่วันที่ 17 แล้วถึงจะเซ็นประกาศออกมา แต่ที่เป็นอยู่คือ ประกาศออกมาโดยไม่ผ่านบอร์ดไหนเลย แต่คำสั่งระบุแล้วว่าไม่จ่าย ซ้ำยังสั่งก่อนการประชุมด้วย แล้วบอกว่าทั้งนี้รอที่ประชุมวันที่ 4 โดยอ้างตามประกาศของ สปสช.


สั่งปิด “ฮอสพิเทล” ทุกแห่ง 31 ก.ค. นี้

นอกจากนี้ยังมีประกาศจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำหนดที่ให้ฮอสพิเทลทุกแห่ง ปิดทำการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยจากประกาศ เรื่อง การเตรียมความพร้อมเพื่อยุติการเพิ่มจำนวนเตียงในสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการชั่วคราว ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ระบุ

“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอให้ยุติการเพิ่มจำนวนเตียงในสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการชั่วคราว และให้ดำเนินการปรับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง ให้เป็นดังพื้นที่เดิมตามที่เคยได้รับอนุญาต ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ “8 กรกฎาคม 2565 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะไม่พิจารณาอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาตฯ ที่ยื่นขอเพิ่มจำนวนเตียงในสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม”

อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าว กำลังเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการสถานพยาบาล จากเดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะยกเลิกภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต้องรอผลมติที่ประชุมอีกครั้ง


แสดงว่าถ้าตามกำหนดเดิม ฮอสพิเทลจะสามารถรับคนไข้ได้วันสุดท้ายคือวันที่ 24 กรกฎาคม เพื่อให้ปิดทันวันที่ 31 ซึ่งเธอมองว่า หากจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ นั่นยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง เนื่องจากการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทั้งหมดนั้นมีความเสี่ยง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เยอะ แล้วถ้าคนที่มีเชื้อน้อยเจอกับคนที่มีเชื้อมาก แทนที่จะใกล้หายและกลับบ้านได้ กลับต้องมารับแลกเปลี่ยนเชื้อกัน ยิ่งทำให้การรักษานานขึ้น

โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่ม 608 คือกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และ บวก 1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมาก หากติดเชื้อโควิด-19

“ตอนนี้อยากให้รัฐเข้ามาดูแลคนกลุ่ม 608  ให้พวกเขาได้เข้าฮอสพิเทลหรือโรงพยาบาล ที่มีพยาบาลหรือคนดูแล แทนที่จะให้เขาไปรักษาตามสิทธิ์ หรือที่ต่าง ๆ เพราะถ้าไปนั่งรอรับยากับคนทั่วไป ยิ่งจะทำให้มีการแพร่เชื้อมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่ตอนนี้ มีทั้งผู้ป่วยปกติและผู้ที่มีอาการรุนแรงปอดบวม เราดูแลโดย เมื่อมาถึงจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที จึงทำให้รักษาได้ทัน ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงก็แย่ ให้เรานึกถึงว่า ถ้าเขาเป็นญาติเราเอง เราทำไง”


เชื่อตัวเลขคนติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริง

คุณแหม่มบอกอีกว่า กรมควบคุมโรคน่าจะหาข้อมูลมากกว่านี้ เพราะที่รับทราบคือไม่มีการตรวจเชิงรุก เช่นคนที่ตรวจ ATK เอง และทราบผลติดเชื้อก็ไม่ได้รายงานผล ฉะนั้นตัวเลขที่แสดงอยู่ตอนนี้น่าจะต่ำกว่าตัวเลขจริงถึง 1 ต่อ 20 เลย หรืออาจจะมากกว่านั้น ด้านนักวิชาการหรืออาจารย์หลายท่าน ก็พูดว่าทำงานยาก วางแผนทำงานไม่ถูก ทั้งที่ก็รู้ว่าตัวเลขน่าจะไม่ใช่ แต่ในเมื่อเอาข้อมูลมาแสดงอย่างนี้ มันก็อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

“สถานการณ์ตอนนี้ เป็นตามที่กรมควบคุมโรคบอกหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ เพราะฮอสพิเทลหลายแห่งตอนนี้ก็เต็มหมดแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เราช่วยได้คือ ขอให้ฮออสพิเทลที่ดูแลอยู่ ยังคงราคาให้ถูก โดยคิดราคาห้องคู่อยู่ที่ 9,900 บาท ส่วนห้องเดี่ยวอยู่ที่ราคา 15,000 บาท ซึ่งหลายแห่งถ้าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีชุดพีพีอี หรือไม่มีของเป็นต้นทุนเดิม ก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้หลายที่มีราคาห้องเริ่มต้นที่ สองหมื่นบาท”

คุณอาจสนใจ

Related News