สังคม
‘หมอโอ๊ค’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถูกมิจฉาชีพปลอมเฟซ – ไอจี ตุ๋นเงินชาวบ้านหลายล้าน
โดย JitrarutP
9 มี.ค. 2565
44 views
“หมอโอ๊ค” ร้อง กระทรวง ดีอีเอส ถูกมิจฉาชีพ ทำเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมปลอม หลอกยืมเงินทำคนเสียหายหลายล้านบาท
นายแพทย์สมิทธิ์ อารยะสกุล หรือ หมอโอ๊ค ดารานักแสดงชื่อดัง เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม ต่อนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังถูกมิจฉาชีพ แอบอ้างปลอมบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และ วอตส์แอปป์ (WhatsApp) ไปหลอกลงทุน หลอกยืมเงิน และอ้างรูป และชื่อในการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยไม่ได้รับอนุญาต
มีการนำภาพถ่าย และวีดีโอ ของหมอโอ๊คและครอบครัว ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายต่อผู้หลงเชื่อในกรณีดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ จำนวนมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ทำให้หมอโอ๊ค ต้องแจ้งความดำเนินคดีและขอให้ ทางกระทรวง ดีอีเอส ข่วยติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดและปิดกั้นแอคเคาท์ปลอมต่างๆ
ด้านนายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังเป็นภัยจากโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ จำเป็นที่ประชาชนต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง ได้ โดยในส่วนของกระทรวงดีอีเอส สามารถประสานระงับการเผยแพร่สื่อโซเชียลมีเดียที่ หรือบัญชีที่ปลอมแปลงดังกล่าวได้ โดยจะร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เร่งรัดติดตามการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด
นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำว่า อยากฝากสื่อมวลชนช่วยแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน กรณีมีผู้มีชื่อเสียงมาทักแชท เชิญชวนลงทุน หรือขอยืมเงินหรืออื่นๆ ว่าอย่าเชื่อ โดยต้องตรวจสอบก่อน ที่จะดำเนินการทำการโอนเงินหรือดำเนินการใดๆ โดยควรจะต้องตรวจสอบกับเพจหรือบัญชีทางการของผู้มีชื่อเสียงที่ถูกแอบอ้างว่าจริงหรือไม่ ซึ่งสังเกตจากเครื่องหมายติ๊กถูกหรือยืนยันว่าเป็นบุคคลนั้นจริง (verification badge) ก่อนที่จะเชื่อตามที่เพจหรือบัญชีนั้นกล่าวอ้าง ซึ่งตนเองและหมอโอ๊คก็กำลังยื่น verify อยู่เช่นกัน ขอให้ผู้มีชื่อเสียง บุคคลสาธารณะตระหนักในเรื่องนี้ด้วย เพื่อป้องกันการสับสนของประชาชน
โดยประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาออนไลน์ได้ที่กระทรวงดิจิทัลฯ โทรสายด่วน 1212 และขอฝากเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรม หรือคิดจะนำรูปผู้อื่นหรือโปรไฟล์ใช้แอบอ้าง สวมรอยเป็นบุคคลอื่น จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยมาตรา 16 ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏ เป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา บทลงโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมาตรา 341 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และมาตรา 342 “ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”