สังคม
ผู้เสียหายเข้าแจ้งความปอท. หลังโดนมิจฉาชีพหลอกขาย "กระชายขาว-ฟ้าทะลายโจร"
โดย thichaphat_d
9 ส.ค. 2564
101 views
วันที่ 9 ส.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ บก.ปอท. น.ส.วิศรัณยา ตระสินธุ์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว พร้อมผู้เสียหายรวม 5 คน เดินทางเข้าพบ รอง สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. แจ้งความกรณีติดต่อซื้อ"กระชายขาว และ ฟ้าทะลายโจร โรงพยาบาลยันฮี" แล้วถูกโกง
ทางด้าน น.ส.วิศรัณยา กล่าวว่า ตนเห็นโพสต์ประกาศขายกระชายขาวยันฮี ของผู้ใช้เฟสบุ๊กบัญชีชื่อ“ออม สิน”ประกาศขายในกลุ่มเฟสบุ๊กชื่อ “ฟ้าทะลายโจรโรงพยาบาลยันฮี” ซึ่งเป็นกลุ่มสาธารณะ มีสมาชิกกว่า 5,400 คน จึงทักไปติดต่อขอซื้อ โดยตกลงซื้อจำนวน 3 ลัง ได้มีการเปิด VDO call แต่ไม่ได้เห็นหน้าผู้ขาย เห็นเพียงภาพสินค้าที่บรรจุใส่กล่อง
จึงได้โอนเงินผ่านบัญชี เป็นจำนวนเงิน 37,800 บาท หลังจากนั้นผู้ขายได้แจ้งเลขพัสดุให้ แต่เมื่อนำไปเช็คกับทางขนส่ง ปรากฎว่าไม่มีเลขพัสดุนี้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังเฟสบุ๊ก“ออม สิน” อีกครั้งแต่ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว จึงต้องมาแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวเจ้าของบัญชีมาสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้าน น.ส.อ๊อฟ พนักงานบริษัทเอกชน ผู้เสียหายอีกรายเปิดเผยว่า ตนได้เข้าไปโพสต์ประกาศ ตามหาฟ้าทะลายโจร 1 ลัง ในกลุ่มเฟสบุ๊กชื่อ “ฟ้าทะลายโจรโรงพยาบาลยันฮี” และเฟสบุ๊กชื่อ "Fern kamnon" ได้ทักมาเสนอขายในราคารวมส่ง 15,480 บาท(เป็นค่าฟ้าทะลายโจร15,262โอนให้ Fern +ค่ารถ 218บาท โอนให้คนส่ง)
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายแล้วทราบว่าผู้เสียหายแจ้วความท้องที่เกิดเหตุมาแล้ว จะได้รวบรวมหลักฐานและประสานท้องที่ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง โฆษกฯ ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังการซื้อ/ขายฟ้าทะลายโจรทางออนไลน์ ว่ามีประชาชนเป็นจำนวนมากหาซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทำให้เกิดความต้องการในท้องตลาดสูง จึงมีมิจฉาชีพหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลอม ฉวยโอกาสโดยการโฆษณาขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอม หรือใช้หมายเลข อย.ปลอม หรือ โฆษณาแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง ทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณ
สำหรับผู้ที่กระทำความผิดขายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอมหรือโฆษณาขายในลักษณะผิดกฎหมายในสื่อสังคมออนไลน์ จะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
นอกจากนี้ยังมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ตามแต่พฤติการณ์ที่ได้กระทำ เช่น มาตรา 58 (1)ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมฯ ประกอบมาตรา 102 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาทบาท มาตรา 70 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาตฯและ มาตรา 74โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะผิดกฎหมายฯ ประกอบมาตรา 114 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ