สังคม

วิกฤตประเทศไทย โรครุมเร้า สังคมขัดแย้ง ข่าวปลอมระบาด

โดย JitrarutP

18 เม.ย. 2564

202 views

นับเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่อยากชวนให้คนไทยมาร่วมกันคิดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 ระยะที่ 3 และท่ามกลางความหวังการรอคอยวัคซีน รอคอยให้ผู้มีหน้าที่ได้ร่วมกันจัดการดูแล ในขณะที่คนไทยทุกคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมตัวเองร่วมกัน โดยเฉพาะความตระหนักต่อการไม่สร้างปัญหาในสังคมเลวร้ายมากไปกว่าที่เป็นอยู่


ปัจจุบันประเทศไทยไม่เพียงแต่เผชิญกับโรคร้าย แต่ยังมีปัญหามากมายจนกลายเป็นวิกฤตทางสังคม กระทบต่อสิทธิความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวปลอม ที่อยู่รอบตัวและใกล้ชิดจนบางครั้งการเกิดขึ้นหรือการกำจัดข่าวปลอมต่างก็ขึ้นอยู่กับเราทุกคน เพียงแค่ปลายนิ้วมือ ความร้ายแรงของข่าวปลอมแม้จะไม่ทันตาเห็นอย่าง โควิด19 แต่เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยให้บอบช้ำและอ่อนแอลงทุกวันหากเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน


สถานการณ์ข่าวปลอมประเทศไทย


ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของข่าวปลอม ในสังคมไทยเกิดขึ้นรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน




นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองจำนวนกว่า 50 ล้านข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 4,649 ข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 2,194 เรื่อง(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 64)


สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 62 - 31 มี.ค. 64 พบข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งสิ้นกว่า 94 ล้านข้อความ โดยมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 28,717ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 9,775 เรื่องดังนี้


- อันดับหนึ่ง เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีสัดส่วนมากสุดถึง 5,301 เรื่อง คิดเป็น 54%

- อันดับรองลงมาเรื่องนโยบายรัฐ 4,000 เรื่อง คิดเป็น 41%

- เรื่องทางเศรษฐกิจ 300 เรื่อง คิดเป็น 3%

- และเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติ 174 เรื่อง คิดเป็น 2%


โดยข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 9,755 เรื่อง ได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 5,207 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 2,418 เรื่อง ข่าวจริง 1,946 เรื่อง ข่าวบิดเบือนจำนวน 378 เรื่อง




นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า การดำเนินการทางกฎหมายนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการประสานร่วมกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ตรวจสอบพบจำนวนคนที่เข้าข่ายกระทำความผิด 2,276 คน ในไตรมาสแรก


ขณะที่ ผลการดำเนินงานเกี่ยวกับข่าวปลอมที่เกาะกระแสไวรัสโควิด - 19 ทั้งสองระลอก รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค. 63 – 31 มี.ค. 64) มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องกว่า 57 ล้านข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 5,079 ข้อความ ข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 2,334 เรื่อง แบ่งเป็น อันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ 1,589 เรื่อง คิดเป็น 68% ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 621 เรื่อง คิดเป็น 27% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็น 5% ตามลำดับ ในส่วนของหมวดหมู่ภัยพิบัติไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย




ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณะบดี คณะนิเทศาสตร์ สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่าสถานการณ์ข่าวปลอม ( Fake News ) ในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ กำลังเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้าง เพราะข่าวปลอมมีวิวัฒนาการทำให้หลอกคนได้แนบเนียนมากขึ้น ค่อยๆซึมซับเข้ามาผ่านกระบวนการทางจิตวิทยา บวกกับอัลกอริทึม (Algorithm) ของโซเชียลมีเดียที่ผลักให้เราเข้าสู่วังวนของคนที่คิดคล้ายๆกับเรา จนเกิดหนทางจิตวิทยาทำให้เราเชื่อข้อมูล โดยที่ยังไม่ได้อ่านหรือรับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข


ทางออกปัญหาข่าวปลอม


ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องมีวิธีในการช่วย ให้ผู้คนมีความรู้ เปลี่ยนทัศนคดี หยุดยั้งความคิดดังกล่าวให้ได้ เพราะข่าวปลอมจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความขัดแย้งในสังคม ทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความรู้ ผู้มีชื่อเสี่ยง ต่างก็ตกเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสิ้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะสื่อมวลชนเองที่มีหน้าที่โดยตรงเสนอความจริง ที่ต้องเจาะลึกเหตุผลจริงๆของสิ่งที่เกิดขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่นำเสนอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้




ผศ.ดร.วรัชญ์ มองว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนจะรับมือกับสถานการณ์ข่าวปลอมได้ คือทุกคนต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้ว่าสื่อที่ดีกับสื่อที่ไม่ดีมีความแตกต่างกันอย่างไร ไม่ควรสนับสนุนสื่อที่สร้างความส่อเสียด พยายามสร้างข่าวปลอมเน้นอารมณ์เพื่อหวังกำไร นอกจากนี้ประชาชนต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ มีจิตสำนึกที่จะสื่อได้ดี ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะเห็นอย่างเดียว และควรปลูกฝังการคิดวิเคราะห์กับเด็กๆและเยาวชน ผ่านกิจกรรมต่างๆด้วย เช่นเดียวกับองค์กรต่างๆที่ควรหันมาให้ความสำคัญ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข่าวปลอม โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน เปรียบเสมือนเป็นกำแพงปราการด่าน หรือ gate keepers ทำหน้าที่เฝ้าประตูข่าวสารป้องกันไม่ให้ข่าวปลอมเข้ามาในเขตที่ประชาชนควรต้องรับรู้ เช่นเดียวกับองค์กรของรัฐที่ควรเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้ และได้รับการพัฒนา รวมถึงภาคส่วนอื่นๆทั้งเอกชน ที่จะต้องร่วมมือกันให้ความสำคัญกับปัญหาข้อมูลข่าวสารมากขึ้น


“ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว สื่อที่จะยืนอยู่ได้ ต้องเป็นสื่อที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน ต้องเป็นองค์กรที่มีคุณค่า นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นความจริง ไม่นำเสนอข้อมูลที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม เมื่อถึงจุดหนึ่งคนก็จะตระหนักได้ ว่าสิ่งที่เขาได้ประโยชน์นั้นคืออะไร ดังนั้นสื่อมวลชนต้องกลับมาตั้งคำถาม ว่าถ้าเกิดเรายังทำตามกระแสต่อไปเรื่อยๆมันจะเกิดอะไรต่อองค์กรของเรา องค์กรของเราอาจจะด้อยค่าลง จนทำให้คนรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรับข่าวจากองค์กรนี้ก็ได้”....ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว


(คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง By ARMdhiravath )

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น รายงาน

คุณอาจสนใจ

Related News