สังคม
เปิดสถิติช้างป่าทำร้ายคน ปี 67 มากถึง 39 ราย 'เฉลิมชัย' สั่งกรมอุทยานฯ เดินหน้าแก้ปัญหา ก่อนเปิดให้เที่ยว
โดย panwilai_c
21 ธ.ค. 2567
41 views
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการความพร้อม ในการเปิดรับนักท่องเที่ยว ของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ว่า "วันนี้เราได้มีมาตรการเข้มงวดในการที่จะป้องกัน โดยยึดถือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด มีการจัดเจ้าหน้าที่ จัดเตรียมพาหนะรถยนต์ 24 ชั่วโมง ในการเข้าไปดูแลพี่น้องที่จะขึ้นไปเที่ยวบนภูกระดึง และจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 นี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสามารถขึ้นไปเที่ยวได้ และปลอดภัย 100%"
"เฉลิมชัย" รมว.ทส. สั่งกรมอุทยานฯ เดินหน้าแก้ปัญหาช้างป่า ย้ำ! ผู้ปฏิบัติงานต้องปลอดภัย พร้อมเปิดสถิติตายจากช้างถึง 239 ราย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ประสบอุบัติเหตุและต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างหนัก หลังเกิดเหตุช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต้องเร่งตรวจสอบพื้นที่และกำหนดมาตรการความปลอดภัยก่อนเปิดให้ท่องเที่ยว ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ หลังจากที่ปิดให้บริการไปตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการเปิดให้บริการอีกครั้งต้องมีการเตรียมพร้อมในทุกด้านเพื่อให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยจากช้างป่ามากที่สุด ทั้งในด้านระบบการลงทะเบียน การสร้างความเข้าใจในการท่องเที่ยวในพื้นที่ การลาดตระเวนดูแลความปลอดภัย การป้องกันไม่ให้ช้างป่าเข้าใกล้พื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งได้กำชับหน่วยงานในสังกัดเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาช้างป่าโดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่กันอย่างหนักเพื่อเร่งแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยตามแนวรอบพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องเป็นไปอย่างมีระบบ โดยให้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจหรือวอร์รูม (War Room) ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างป่าเพิ่มการลาดตระเวนให้เข้มข้นมากขึ้น การกำหนดมาตรการป้องกัน และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่มีช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ได้แก่ เงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแล ชดเชย และเยียวยาที่สอดคล้องกับความสูญเสีย และรวดเร็วทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน อาสาสมัคร และชุมชนหรือประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีปัญหาช้างป่า ก็ได้ร่วมมือกันแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการขยายข้อมูล สื่อสารสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า ให้อยู่ในจุดสมดุลที่ปลอดภัยทั้งคนและช้างป่า
จากรายงานเหตุการณ์แก้ไขปัญหาช้างป่า ของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ปีงบประมาณ 2567 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรช้างป่าประมาณ 4,013-4,422 ตัว
กระจายตัวอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ โดยพบว่า กลุ่มป่าตะวันออก มีช้างออกนอกพื้นที่มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าตะวันตก ในพื้นที่ 30 จังหวัด และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และตราด ตามลำดับ
จากสถิติ 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าวิตก คือในช่วง 12 ปี (2555-ปัจจุบัน) มีผู้เสียชีวิตมากถึง 239 ราย บาดเจ็บ 206 ราย
ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2567 มีช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมแล้วจำนวน 11,468 ครั้ง เกิดความเสียหาย 1,975 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลของราษฎร ทั้งหมด 1,610 ครั้ง ทรัพย์สินเสียหาย 554 ครั้ง คนบาดเจ็บ 34 คน คนเสียชีวิต 39 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่พบผู้บาดเจ็บ 29 ราย และเสียชีวิต 22 ราย
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสัตว์ป่า เฉพาะในปี พ.ศ.2567 กรมอุทยานฯ ช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ ไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 4,810,622.75 บาท จากการเสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 60 ราย แยกเป็นช้างป่า 60 ครั้ง กระทิง 15 ครั้ง วัวแดง 1 ครั้ง ลิง 18 ครั้ง แยกเป็นเจ้าหน้าที่ เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย เยียวยาเป็นเงิน 1,051,526 บาท อาสาสมัคร เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย เยียวยาเป็นเงินทั้งสิ้น 202,400 บาท ประชาชน เสียชีวิต 31 ราย บาดเจ็บ 55 ราย เยียวยาเป็นเงิน 3,556,696,75 บาท โดยใช้งบประมาณตามหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าในการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ. 2566 หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าในการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ารวมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ทำหน้าอย่างหนักเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าไม่ให้ออกมาสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
แท็กที่เกี่ยวข้อง ช้างป่าทำร้ายคน ,ปัญหาช้างป่า ,สถิติช้างป่าทำร้าย ,ช้างภูกระดึงทำร้ายคน