สังคม

อ.ปากพลี จัดกิจกรรมต้อนรับ 'นกเหยี่ยว' หลายพันตัวหนีหนาวเข้าไทย ศึกษาเส้นทางอพยพหาแนวทางอนุรักษ์

โดย panwilai_c

23 พ.ย. 2567

38 views

ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมไปต้นไปของทุกปี จะเป็นฤดูกาลอพยพของนกเหยี่ยวเข้าสู่ประเทศไทย โดยที่ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ก็จะจัดกิจกรรมเทศกาลต้อนรับเหยี่ยวอพยพขึ้น เพื่อต้อนรับฝูงนกกว่า 2 พันตัวที่บินหนีอากาศหนาวเข้ามายังพื้นที่อบอุ่นในประเทศไทย ซึ่งการศึกษาและติดตามเส้นทางการอพยพเหยี่ยวดำไทยของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ล่าสุดก็สามารถยืนยันได้แล้วว่าเหยี่ยวดำไทยมีเส้นทางการอพยพเดิมทุกปี หลังติดเครื่องส่งสัญญาณบนตัวเหยี่ยวดำเพื่อศึกษาพฤติกรรมของพวกมัน สู่การสร้างแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรให้พ้นวิกฤตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์



ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งเข้าพื้นที่ อ.ปากพลี จังหวัดนครนายกทันที ที่ได้รับการแจ้งเตือนจากเครื่องส่งสัญญาณที่ติดไว้กับเหยี่ยวดำไทยชื่อนากและเทวา นั่นเป็นสัญญาณสำคัญของการอพยพกลับถิ่นประจำปีบ้านเกิดในประเทศไทยอีกครั้งในรอบปีเพื่อมาจับคู่ผสมพันธุ์



ภาพที่เห็นอยู่นี้ คือ เหยี่ยวดำไทยอีกคู่ ที่กำลังเข้าคู่ซ่อมรังเก่า ซึ่งจากนี้เราอาจได้เห็นลูกเหยี่ยวตัวน้อยเติบโตขึ้นอีกหลายสิบตัว



ภาพฝูงนกอพยพกว่า 5 พันตัวในตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจากเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงปี 2564 พบว่าที่นี่มีเหยี่ยวดำใหญ่ อพยพจากไซบีเรีย ประเทศรัสเซียเข้ามาหากินในประเทศไทย มากกว่า 2,000 ตัว เหยี่ยวดำไทย ที่อพยพกลับจากอินเดียมาทำรังในประเทศไทย 218 ตัว และ ยังมีนกหายากเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์อย่างนกอินทรีปีกลายอีกไม่ต่ำกว่า 30 ตัว รวมไปถึงนกชนิดอื่นๆ



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ระบุว่า จากการศึกษาด้วยการติดเครื่องส่งสัญญาณบนตัวเหยี่ยวดำไทยที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 5 ตัว ตั้งแต่ปี 2564 สามารถยืนยันได้แล้วว่า



เหยี่ยวดำไทยมีเส้นทางการอพยพเป็นระยะทางกว่า 4 พันกิโลเมตรจาก ทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือ จากประเทศไทยไปทางประเทศอินเดีย ก่อนกลับมายังถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเพื่อผสมพันธุ์



แตกต่างจากเส้นทางอพยพทั่วไปของเหยี่ยวดำใหญ่ที่ย้ายถิ่นจากทิศเหนือลงทิศใต้ ซึ่งเป็นเพียงเส้นทางอพยพตามฤดูเท่านั้น



เหยี่ยวดำไทยมีขนาดตัวจากจะงอยปากจรดปลายหาง 510 – 600 เซ็นติเมตร โดยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มีน้ำหนักตัวประมาณ 500 – 800 กรัม อาหารของเหยี่ยวดำไทย ได้แก่ หนูนา ปลา งู คางคก ลูกนกน้ำ เช่น นกกวัก ซึ่งนักวิจัยจะใช้ข้อมูลใหม่ด้านนิเวศวิทยาและการอพยพสร้างความตระหนักให้เกิดความสนใจต่อพฤติกรรมเดินทางไกลของเหยี่ยว และให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเหยี่ยวดำในฐานะทรัพยากรธรรมชาติ โดยสถานภาพการอนุรักษ์เหยี่ยวดำไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากภัยคุกคามจากการล่าลูกเหยี่ยวไปขายในวงการค้าสัตว์ป่า รวมทั้งต้นไม้สำหรับทำรังลดลงอีกด้วย



ช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคมนี้ หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชาวชุมชนตำบลท่าเรือ และมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย จะจัดเทศกาลต้อนรับเหี่ยวอพยพ



โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้าเป็นต้นไป สามารถไปตามนัดหมายได้เพียงค้นหาในแพลตฟอร์มนำทางในชื่อ จุดชมนกเหยี่ยวหูดำ อ.ปากพลี จังหวัดนครนายก

คุณอาจสนใจ