สังคม
ดีเอสไอจับมือ 'ทูตพาณิชย์อิตาลี' ถก 5 ประเทศ ขยายผลคดี 'หมูเถื่อน'
โดย chawalwit_m
11 พ.ย. 2567
139 views
พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน นำทีม พนักงานสอบสวนเข้าพบเจ้าหน้าที่ทูตพาณิชย์ประเทศอิตาลี ประจำประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการแกะรอยคดีนำหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้หารือกับทูตพาณิชย์ประเทศอิตาลีมาแล้ว และอิตาลีได้แสดงความประสงค์เป็นเจ้าภาพในการประสานงานคดีนี้กับประเทศอื่นๆในยุโรป ทำให้วันนี้ มีตำรวจเศรษฐกิจและศุลกากร จากประเทศเดนมาร์ก เนเธอแลนด์ และเยอรมนี เข้าร่วมหารือด้วย เนื่องจาก ดีเอสไอ พบเอกสารว่าสินค้าที่นำเข้า มีชื่อประเทศ ดังกล่าวเป็นต้นทางด้วย
ในคดีพิเศษที่ 126/2566 นั้น ดีเอสไอพบหลักฐานว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่สงสัยนำเข้าหมูเถื่อนมีทั้งหมด 1,816 ตู้ มาจากประเทศเดนมาร์ก เนเธอแลนด์ และเยอรมนี
ในประเทศเดนมาร์กนั้น มีชื่อบริษัทนำเข้า 10 บริษัท จำนวนมาก 50 ตู้ รายที่นำเข้ามากที่สุดบริษัทเดียว จำนวน 19 ตู้
ประเทศเนเธอแลนด์ มีชื่อบริษัทนำเข้า 14 บริษัท จำนวน 847 ตู้ รายที่นำเข้ามากที่สุดบริษัทเดียว จำนวน 219 ตู้ รองมาคือจำนวน 211 ตู้
และประเทศเยอรมนี มีชื่อบริษัทนำเข้า 16 บริษัท จำนวน 919 ตู้ รายที่นำเข้ามากที่สุดบริษัทเดียว จำนวน 198 ตู้
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ก่อนหน้านี้พบเอกสารสำแดงการนำเข้าสินค้าจากประเทศในยุโรปว่า สินค้านั้นปลาแซลมอนบ้าง เป็นหัวปลาเฮคบ้าง ซึ่งดีเอสไอ มีข้อสงสัยว่าสินค้านำเข้าตรงตามที่สำแดงในเอกสารหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเทศดังกล่าว จะไปตรวจสอบตามบริษัทที่ปรากฎชื่อในเอกสาร
ทางด้านพันตำรวจตรีณฐพล ระบุว่าคณะพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 ประเทศ นัดหารือกันอีกครั้งวันที่ 23 มกราคมปีหน้า จากนี้มีแผนเดินทางไปที่อิตาลี เนเธอแลนด์ เยอรมนี และบราซิล เพื่อพิสูจน์ ข้อเท็จจริง
พันตำรวจตรีณฐพล ระบุว่าต่างประเทศให้ความสนใจคดีนี้ด้วย เนื่องจากพบพฤติกรรมการฟอกเงินที่ต่างประเทศด้วย โดยพบว่าเงินจากผู้ประกอบการจากประเทศไทย ส่งไปให้ บริษัทที่ยุโรปเป็นค่าสินค้า แต่ปรากฎว่าสินค้าเนื้อหมูที่ส่งมาไทย เป็นสินค้าที่นำเข้าจากอเมริกาใต้
แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนทางธุรกิจของคนกลุ่มนี้ คดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน แบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือหนึ่งกรณีตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบับ 161 ตู้ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.แล้วทั้งหมด 9 สำนวน และอีก 1 สำนวนอยู่ระหว่างสรุป สอง กรณีนำเข้าตู้สินค้า 2388 ตู้ อยู่ระหว่างสอบสวนและประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ และ สาม คดีองค์กรอาชญากรรม ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหลายกรม รวมถึงข้าราชการการเมือง ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 14 ราย
พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดี ดีเอสไอ ระบุว่าคดีนี้มีข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้อง ต้องส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามทุจริต แห่งชาติ ซึ่งสำนวนอยู่ระหว่างดำเนินการ.