สังคม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.จัดเสวนา ถอดบทเรียน 'น้ำท่วม-ดินโคลนหลาก' ภาคเหนือ

โดย panisa_p

5 พ.ย. 2567

123 views

ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาถอดรหัสวิกฤตน้ำท่วมดินโคลนถล่ม : บทเรียนที่ต้องจดจำ เพื่อสร้างแนวทางรับมือและแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นตามมา หลังช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ต้องเผชิญกับเหตุภัยพิบัติซ้ำซากอย่างรุนแรง โดยนักวิชาการชี้ชัดว่าพื้นที่ภัยพิบัติมักสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ จึงเสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง หรือมอบหมายให้มีหน่วยงานอิสระรับมือปัญหาด้านภัยพิบัติโดยตรง



เวทีเสวนาถอดรหัสวิกฤตน้ำท่วมดินโคลนถล่ม : บทเรียนที่ต้องจดจำ จัดโดยภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย มีผู้แทนจากภาควิชาการจาก ม.เกษตรฯ และ หน่วยงานรัฐร่วมถอดบทเรียนเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ หลังต้องเผชิญกับเหตุภัยพิบัติดังกล่าวอย่างรุนแรงตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้การฟื้นฟูก็ยังไม่กลับมา 100%



ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุซึ่งเกิดขึ้นบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่น จนปริมาณน้ำบนเทือกเขา และ ตามลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น



โดยหากเทียบข้อมูลน้ำปี 2557 กับ 2567 พบว่า แม้ปี 2557 ปริมาณน้ำมาก แต่ก็ไหลระบายลงสู่พื้นที่ปลายน้ำ ได้คล่องตัว ต่างกับปี 2567 ที่ปริมาณน้ำมากแล้ว แต่การระบายน้ำก็ช้ากว่ามาก เป็นผลจากภูมิประเทศ และสภาพทางน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ดังนั้นปริมาณน้ำท่า และน้ำฝนจึงมีผลต่อการเกิดเหตุภัยพิบัติตามมา



รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้เปิดเผยผลการศึกษาดินโคลนถล่มในพื้นที่เชียงรายตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลเชิงพื้นที่ระบุว่า อำเภอแม่สาย มีการทับถมของชั้นตะกอนจากหลายช่วง ที่เกิดจากดินโคลนไหลหลาก ซึ่งคาดว่าเป็นธรรมชาติของพื้นที่ ทำให้อาจเกิดเหตุการณ์นี้ได้อีก



ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาช่วงเวลาและอัตราการเกิดดินโคลนถล่มขึ้น เพื่อรับมือ ขณะที่ปัจจุบันทำได้เพียงนำข้อมูลน้ำในพื้นที้มาคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า 3 วัน และ คาดการณ์จากปริมาณน้ำฝนล่วงหน้า 15 นาที ก่อนเตือนไปยังพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่ เป็นจุดล่อแหลม เปราะบาง ขณะที่ประชาชชนในพื้นที่ก็เลือกที่จะอยู่ในพื้นที่เดิม



ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ยอมรับว่าข้อมูลสถานการณ์น้ำในตอนนี้ยังมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของปริมาณน้ำฝน แม้จะสามารถระบุพื้นที่เฝ้าระวังได้ก็ตาม ซึ่งธรรมชาติของน้ำเมื่อหลากมาแล้วก็ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถเตรียมความพร้อมในพื้นที่ได้ เพราะธรรมชาติของประเทศไทย เป็นประเทศที่เกิดปรากฎการณ์น้ำหลากทุกปี



พลอากาศเอก สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ตอนนี้ทางศูนย์ได้นำข้อมูลเหตุภัยพิบัติ ล่าสุดจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูล เพื่อสร้างขั้นตอนการเตือนภัยใหม่ ผ่านการรับข้อมูล โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ และแจ้งเตือนล่วงหน้าไปยังพื้นที่ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้คนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือ



รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เสนอว่าควรมีหน่วยงานอิระที่รับผิดชอบแก้ไขและติดตามปัญหาดินโคลนถล่มโดยตรง และควรมีมิติด้านกฎหมายเข้ามากำกับดูแล



ล่าสุดเชียงใหม่และเชียงรายยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาอยู่อาศัยได้อีกครั้ง ซึ่งหากไม่มีการถอดบทเรียนเพื่อเรียนรู้และเข้าใจปัญหา ก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อีก

คุณอาจสนใจ

Related News