สังคม

ยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดตัว แคมเปญ #CountMeIn เผยผลสำรวจความเห็นเยาวชนต่อภาวะโลกรวน

โดย parichat_p

27 ต.ค. 2567

85 views

ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เปิดตัว แคมเปญ #CountMeIn โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเด็กและเยาวชน โดย ล่าสุดได้มีการเปิดเผยผลการสำรวจความเห็นของเด็กและเยาวชนกว่า 1,800 คน เพื่อนำเสนอความต้องการและคำแนะนำจากพวกเขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศผ่านสวนดุสิตโพล และ U report Poll ซึ่งจะส่งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อที่ประชุม COP 29 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้


แคมเปญ #CountMeIn ของยูนิเซฟประเทศไทย ได้จัดทำโพลขึ้นในเดือนกันยายน เพื่อสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และคำแนะนำของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านสวนดุสิตโพล และ U Report Poll โดยมีเด็กและเยาวชน อายุ 14-24 ปี กว่า 1,800 คนเข้าร่วม โดยผลการสำรวจความเห็นระบุว่า เด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 90 บอกว่า ปัญหา climate change หรือ ภาวะโลกรวน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา ขณะที่ กว่าร้อยละ 60 บอกว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และ กว่าร้อยละ 50 บอกว่า กระทบความเป็นอยู่ ใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น รวมทั้งกว่าร้อยละ 40 บอกว่า กระทบสุขภาพจิต


นอกจากนี้จากผลสำรวจยังระบุว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 80 สนใจแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ขณะที่ เกือบร้อยละ 60 บอกว่ายังไม่เคยร่วมกิจกรรมใดๆ เลยที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะเงินทุน


ซึ่งยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีข้อเสนอแนะของเยาวชนในการแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ หลังจากนั้น​หรือ​ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือ ขาดข้อมูล และไม่รู้จะไปขอการสนับสนุนจากใคร หรือไปเสนอแนวทางกับใคร


ส่วนคนที่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในเรื่องนี้ คือ เพื่อนๆ หรือเครือข่ายเยาวชน รองลงมาคือ รัฐบาล และ อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม ยูนิเซฟได้จัดประชุมหารือกับแกนนำเยาวชนจากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งนำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนของยูนิเซฟ


โดย พิทยาภรณ์ พุทธสินธุ์ รองประธาน กลุ่ม Green Youth Thailandได้สรุปข้อเสนอบางส่วนของเด็กและเยาวชน จากการประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม อย่างไม่เป็นทางการ เสนอให้


1.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่ตอบโจทย์เด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนและบริการที่จำเป็นในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รัฐบาลควรบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว เช่น ภัยพิบัติและมลพิษ เพื่อปกป้องพวกเขาในอนาคต


2.รัฐบาลควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในนโยบายและแผนด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศอย่างจริงจัง โดยต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการอภิปรายและการปรึกษาหารือในทุกระดับ ตั้งแต่การพัฒนานโยบายไปจนถึงการดำเนินการติดตามและประเมินผล


3.รัฐบาลควรส่งเสริมการศึกษาและความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับเด็กและเยาวชน:เพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในทุกระดับ ควรมีการสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งเสริมพลังให้เยาวชนในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและผลักดันการกระทำที่นำโดยเยาวชน


เยาวชนและคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนของยูนิเซฟ จะนำผล poll ครั้งนี้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะของเยาวชน เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 จัดขึ้นประเทศอาเซอร์ไบจานในเดือนพฤศจิกายนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News