สังคม

ตร.สากลออกหมายแดง 14 ผตห.คดีตากใบ หลังคาดหนีพ้นไทยหมดแล้ว

โดย panwilai_c

22 ต.ค. 2567

56 views

รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยืนยันต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนการเมือง วุฒิสภา ว่าได้ติดตามตัวผู้ต้องหาคดีตากใบทั้ง 14 รายแล้ว ไม่พบตัวในประเทศไทย จึงคาดว่าหนีออกนอกประเทศไปหมดแล้ว และล่าสุดตำรวจสากลได้ออกหมายแดงทั้ง 14 รายแล้ว



ขณะที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ยืนยันว่าได้ร่างคำฟ้องไว้แล้ว หากตำรวจนำตัวผู้ต้องหามาส่งตัวได้ทันก่อนหมดอายุความก็จะส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีได้ทันที ขณะที่ความเห็นสมาชิกวุฒิสภาไม่อยากเห็นกรณีตากใบ 2 จึงอยากเห็นเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้



ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีตากใบมาชี้แจง โดยเฉพาะความคืบหน้าในการติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับ ของศาลจังหวัดนราธิวาส 7 ราย และหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี 8 ราย รวม 15 ราย



พลตำรวจตรี นิตินัย หลังหย่าหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมด้วย พ.ต.อ.รังสี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ และ พ.ต.ท.เสกสรรค์ คงคืน รองผู้กำกับกลุ่มงานสอบสวนคดีความมั่นคง เปิดเผยว่า ตำรวจสากล ได้ออกหมายแดง ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีการไปติดตามตัวตามที่อยู่แล้วทุกราย ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำชับตำรวจทุกพื้นที่ไปตรวจค้นแล้ว ไม่พบตัวที่บ้านและที่ทำงาน เช่นล่าสุดได้เดินทางไปพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามตัวผู้ต้องหารายหนึ่ง ตามหมายจับศาลจังหวัดปลัดปัตตานี ที่ปัจจุบันเป็นปลัดอำเภอ เพื่อให้มามอบตัว แต่ได้รับรายงานว่าขาดราชการ ไม่สามารถติดต่อได้ ทราบว่าหลบหนีไปประเทศลาวแล้ว ส่วนที่เป็นทหาร ได้ไปตรวจค้นที่ค่ายทหารในจังหวัดลำปางแล้วไม่พบตัว



ที่ประชุมทั้งนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทซ์ และ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้สอบถามถึงหมายแดงของตำรวจสากล เพราะเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของตำรวจสากล ยังไม่พบหมายแดงผู้ต้องหาทั้ง 14 คน และสอบถามว่าทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่หรือไม่



พ.ต.ท.เสกสรรค์ คงคืน ชี้แจงว่า สอบถามล่าสุดไปยังกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันตำรวจสากลออกหมายแดงทั้ง 14ราย มีหมายเลข Control Number แล้ว รวมถึงได้ทำหนังสือไปยังสถานทูตญี่ปุ่น และ อังกฤษ ที่มีผู้ต้องหา 2 คน หลบหนีไปแล้ว ส่วนอีก 12 คน คาดว่าหลบหนีออกตามช่องทางธรรมชาติ



ในส่วนสำนักงานอัยการภาค 9 นายอารยะ กระโหมวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9, นายสินทวิชญ์ มโนภาส, นายปราการ สังขอินทรี, นายชัยชาญ ยมจินดา อัยการจังหวัดปัตตานี ชี้แจง สำนวนคดีตากใบ ตั้งแต่เกิดเหตุ 25 ตุลาคม 2547 มี 4 สำนวน โดยสำนวนกรณีถึงแก่ความตายหน้า สภ.ตากใบ มีการงดการสอบสวนไปแล้ว ส่วนกรณีถึงแก่ความตายระหว่างขนย้ายลำเลียง 78 ราย มีสำนวนไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ที่ศาลจังหวัดสงขลาสรุปสำนวนไปแล้วเมื่อปี 2552 ว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ และไม่ได้ดำเนินคดีต่อ จนกระทั่งในปี 2567 สภ.หนองจิกส่งสำนวนฟ้องผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 8 ราย และอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องไปเมื่อ 12 กันยายน 2567 ส่วนคดีแพ่งทายาทได้ยื่นฟ้องไปและได้มีการประนีประนอมยอมความในศาลไม่ติดใจดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาในปี 2549 สำหรับคดีกล่าวหาผู้ชุมนุมรวม 59 คน ให้การรับสารภาพ 8 คน ศาลพิพากษาลงโทษตามคำฟ้องคนละ 4 ปี ไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยสำนักผิดขอกลับตัวเป็นพลเมืองดี และจะร่วมมือกับทางราชการพัฒนาชุมชน บ้านเมืองและประเทศชาติ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ส่วนสำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาผู้ชุมนุม รายงานสำนักงานอัยการ ภาค 9 ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549 นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เห็นว่า มีคำสั่งให้ถอนฟ้องเพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์



สำหรับผู้ต้องหาตามหมายจับ 8 คน ทางสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้เตรียมร่างคำฟ้องไว้แล้ว หากตำรวจนำตัวผู้ต้องหามาส่งได้ภายในเวลา 16.30 น.ก็จะส่งฟ้องต่อศาลได้ทันที แต่หากไม่ทัน



นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หากตำรวจและอัยการ ไม่สามารถตำตัวผู้ต้องหาในคดีตากใบมาได้ เสี่ยงต่อหายนะของกลไกราชการที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น เช่นเดียวกับ สว.หลายคนที่ไม่อยากให้กรณีตากใบ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ผู้กระทำผิดไม่เคยถูกลงโทษและไม่อยากให้เกิดเหตุตากใบ 2 ขึ้นอีก



นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ผิดหวังที่คณะรัฐมนตรีไม่ออก พรก.ต่ออายุความคดีตากใบ สุดท้ายหากจับใครมาไม่ได้ ผู้เสียหายสามารถรวมตัวฟ้องศาลระหว่างประเทศ เหตุมีมูลเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไม่อยากเห็นรัฐบาลสร้างวาทกรรมใส่ร้ายผู้เสียหาย



ในที่ประชุมกรรมาธิการยังเชิญ Ms. Katia Chirizzi ผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งเห็นว่าการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่มีอายุความและเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นรัฐภาคีการต่อต้านการทรมานและหาแนวทางที่เหมาะสมในคดีตากใบด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News