สังคม
เปิดที่มาการยื่นฟ้องคดีตากใบ ญาติ ยัน ไม่มีเบื้องหลัง แต่ไม่รู้คดีนี้ยื่นฟ้องได้
โดย parichat_p
20 ต.ค. 2567
87 views
ยังมีความเข้าใจผิดในการยื่นฟ้องคดีตากใบของญาติ ที่มายื่นใหม่ก่อนคดีจะหมดอายุความ ซึ่งญาติยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลัง แต่เกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา ญาติไม่รู้ว่าคดีนี้ยังยื่นฟ้องได้ เพราะไม่เคยมีการดำเนินคดีอาญามาก่อน และกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการออกหมายจับอดีตข้าราชการระดับสูงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทีมทนายความ ขอให้มองที่ประเด็นการฟ้องมาจากการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงคาดหวังที่จะให้ผู้ต้องหามามอบตัวก่อนคดีจะหมดอายุความ ขณะที่ญาติคาดหวังว่าในที่สุดแล้วอยากได้คำขอโทษจากรัฐบาลเพื่อแสดงความจริงใจที่ในท้ายที่สุดอาจไม่สามารถนำใครเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
นายมูฮัมหมัด ซอฮารี อูเซ็ง น้องชายผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ น้ำตาซึมทุกครั้งเมื่อพูดถึงพี่ชาย เขาบอกเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมฟ้องคดีตากใบ กับญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรวม 48 คน เพราะต้องการให้คนผิดมารับโทษ ซึ่งเหตุที่มายื่นฟ้องก่อนคดีจะหมดอายุความ เพราะญาติต่างอยากรู้ว่า ใครคือผู้กระทำผิด และก่อนหน้านั้นตลอดเกือบ 20 ปีตกอยู่ในสภาพหวาดกลัว แม้รัฐจะจ่ายเงินเยียวยา ก็เป็นสิทธิที่ควรได้รับ การยื่นฟ้องใหม่จึงไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง
ทีมทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า การฟ้องคดีใหม่มาจากความต้องการของญาติอย่างแท้จริง ทนายความช่วยเหลือช่องทางตามกฏหมาย และได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการกฏหมายการยุติธรรมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติเป็นประธาน ได้เรียกหลายฝ่ายมาสอบถามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 จนรู้ว่าสำนวนคดีไต่สวนการตายหายไป ตั้งแต่ปี 2552 หลังจากศาลจังหวัดสงขลา สรุปสาเหตุการตายว่ามาจากการขาดอากาศหายใจ แต่การสืบสวนว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย ยังไม่ดำเนินการต่อ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฏหมาย ยืนยันว่า คดีตากใบยังไม่จบ แม้จะมีการสรุปคดีไต่สวนการตายไปแล้ว ญาติจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่ยื่นฟ้องได้ จึงไม่อยากให้บิดเบือนประเด็น ซึ่งไม่ยุติธรรมกับญาติเลย
ทีมนายความขอให้มองประเด็นการยื่นฟ้องคดีตากใบที่เป็นมูลเหตุของการเสียชีวิต ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องในคดีฆ่าผู้อื่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่น และกักขังหน่วงเหนี่ยว ว่ามีการกระทำให้มีผู้เสียชีวิต ที่อยากให้ผู้ต้องหามาพิสูจน์ข้อเท็จริง
สำหรับประเด็นสำคัญที่ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 และออกหมายจับจำเลย 7 คน มีเหตุผลสำคัญระบุว่ามี ข้อเท็จจริงเพียงพอให้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐได้ปิดล้อมที่ชุมนุมและใช้มาตรการต่าง ๆ รวมถึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตจากลูกกระสุนปืน 7 คน เมื่อสถานการณ์สงบลง เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้อยู่ในที่ชุมนุมกว่า 1,300 คน มัดมือไพล่หลังนำตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกของเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 25 ถึง 28 คัน เพื่อขนย้ายไปควบคุมต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 150 กิโลเมตร ในการขนย้ายมีกรณีที่เจ้าหน้าที่จัดการให้ผู้ถูกควบคุมตัว
ซึ่งถูกมัดมือไพล่หลังนอนคว่ำหน้าจนเต็มกระบะรถบรรทุกชั้นแรกและนำผู้ถูกควบคุมตัวอีกส่วนใส่ทับในลักษณะเดียวกันมากกว่า 2 ชั้น แล้วมีเจ้าหน้าที่ถืออาวุธปืนควบคุมไปด้วยในกระบะรถยนต์บรรทุก ซึ่งบางคันมีผู้ใบคลุมไว้ ตั้งแต่ 16.00 น.เมื่อนำตัวผู้ถูกควบคุมลงจากรถ พบว่ามีผู้เสียชีวิตในรถขณะขนย้ายหลายสิบคน แต่ไม่ปรากฏว่า มีการสั่งการหรือดำเนินการใด ๆ การขนย้ายยังคงดำเนินต่อไป จนรถยนต์บรรทุกคันสุดท้ายไปถึงค่าย อิงคยุทธบริหาร และนำตัวผู้ควบคุมลงจากรถเสร็จเวลาประมาณ 1 ถึง 2 นาฬิกา ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตจากการขนย้ายทั้งหมด 78 คน รวมมีผู้เสียชีวิต 85 คน
การยื่นฟ้องคดีใหม่ของญาติ 48 ราย ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้บาดเจ็บ จึงนับเป็นความกล้าหาญของประชาชนที่ลุกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และเป็นคร้้งแรกในประวัติศาสตร์คดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการออกหมายจับอดีตข้าราชการระดับสูงทั้งอดีตแม่ทัพภาค ที่ 4 อดีตผู้บัญชาการตำรวจ อดีตรองปลัดมหาดไทยและอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ยังไม่มีใครกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แท็กที่เกี่ยวข้อง คดีตากใบ ,ญาติเหยื่อคดีตากใบ ,ไม่มีเบื้องหลังการฟ้อง