สังคม
กกต. สั่งตั้งคกก.สอบ ยุบเพื่อไทย - 6 พรรคร่วม ชี้คำร้องปมครอบงำมีมูล ด้านพรรคถูกร้อง ยันไม่กังวล
โดย panwilai_c
18 ต.ค. 2567
86 views
คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. รับคำร้อง กรณีมีผู้ยื่นให้ยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณีถูกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ ที่เดินทางไปที่ไปบ้านจันทร์ส่องหล้าช่วงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน หลังนายทะเบียน เห็นว่ามีมูล และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ
โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้ ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลนิรนาม น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้องอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาทวีสิน สิ้นสุดลง
การให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล โดนผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิด ก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3)ของกฎหมายเดียวกันได้
ทางด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ได้แสดงความเห็นว่า เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ว่าถ้าอ้างว่าครอบงำ ในวันนั้นที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้ามีการคุยกันและเห็นร่วมกันว่าอย่างไร และวันรุ่งขึ้นพรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนที่ในคำร้องมีการอ้างว่ามีใบสั่งจากนายทักษิณ สั่งห้ามไม่ให้พรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาลนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของพรรคแกนนำร่วมรัฐบาล
ส่วน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็แสดงความมั่นใจว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะคนเราก็สามารถไปมาหาสู่กันได้ ไปทานข้าวกัน เพราะนอกจากจะเป็นบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังเป็นบ้านของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย และเวลารองนายกรัฐมนตรีหรือใครไปเจอ จะมีปัญหาอะไร
นายภูมิธรรม ยังกล่าวว่าไม่กังวล ให้ทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการ ไม่มีปัญหาอะไร พร้อมกล่าวย้ำว่า ไม่มีประเด็น อย่างนี้ประเทศมันถึงได้ป่วนกัน ปล่อยให้คนฟ้องอะไรกันไปเรื่อยเปื่อย
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคที่ถูกยื่นร้องให้ถูกยุบด้วย บอกว่า ไม่กังวล