สังคม

'พิเชษฐ์' ปิดประชุมสภาฯ ไม่สนเสียงท้วง ทำวาระลงมตินิรโทษกรรมค้าง หลังสมาชิกเถียงกันยับ

โดย panwilai_c

17 ต.ค. 2567

63 views

ความเคลื่อนไหวการเมืองวันนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ยังไม่สามารถลงมติได้ หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งปิดประชุม เพราะสมาชิกถกเถียงกัน



การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มี นายชูศักดดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานซึ่งพิจารณาเสร็จแล้ว



โดยนายชูศักดิ์ ชี้แจงหลักการ ว่า รายงานนี้ คือผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่ การยกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเพียงข้อเสนอแนะแนวทาง หากจะมีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในโอกาสต่อไป



นอกจากนี้ ยังได้ศึกษา เสนอแนะ แนวทางอื่นๆ ในการยุติความขัดแย้งไว้ด้วย เช่น แนวทางการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทิน แนวทางการขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางการใช้อำนาจ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างอื่น ทั้งนี้ ควรเอาเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มากำหนดขอบเขตช่วงเวลานิรโทษกรรม มุ่งเน้นที่การกระทำ ที่มูลเหตุเกิดจากแรงจูงใจ ทางการเมือง



โดยคณะกรรมาธิการได้แยกแยะการกระทำ ในคดีหลัก เช่น ความผิดฐานเป็นกบฐ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน แยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ออกมาเป็นการเฉพาะ รวมถึงแสวงหา มาตรการอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข เสนอรูปแบบนิรโทษกรรมทั้งแบบ อัตโนมัติ แบบให้มีคณะกรรมการวินิจฉัย และแบบผสมผสาน



นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า และข้อสังเกตที่เกิดจากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระ ในหลายชุดที่ผ่านมา รวมทั้งความเห็นกมธ.ที่เห็นว่า ความผิดตามมาตรา110 ความผิดตามมาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหว และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้



อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของกมธ.ไม่ได้บังคับ หรือผูกมัดครม.ต้องดำเนินการตามที่เสนอ และย้ำว่า รายงานนี้ได้ขอเลื่อนมา 2-3 ครั้งเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า รายงานนี้ เป็นเพียงการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ที่ได้รับมอบหมายจากสภาฯ ดังนั้น ที่ประชุมควรรับทราบรายงาน เพื่อนำผลไปประกอบการพิจารณา ในอนาคตต่อไป



ต่อมา ที่ประชุมสภาฯเปิดให้ สส.แสดงความคิดเห็น โดย สส.พรรคภูมิใจไทย ส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านรายงาน ของคณะกรรมาธิการ เช่น นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ กังวลว่า หากมีการผ่านรายงานฉบับนี้ ส่งไปยังครม. จะมีการตรากฎหมาย โดยอ้างว่าเป็นมติของสภาฯ หรือจะออกเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม การกระทำที่ล่วงละเมิดสถาบันพระกษัตริย์ โดยเฉพาะมาตรา110 และ มาตรา 112



ด้าน นางนันทนา สงฆ์ประชา สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่ารายงาน กมธ.ฯ กำกวม ไม่ชัดเจน พรรคภูมิใจไทย มีเลือดสีน้ำเงินอันเข้มข้น มีจุดยืนไม่แตะต้อง และพร้อมที่จะปกป้องมาตรา112 ด้วยชีวิต ไม่มีทางที่จะพิจารณาเด็ดขาด ไม่ว่าใครทั้งสิ้นที่กระทำความผิด112 จะไม่ร่วมพิจารณา รายงานด้วยในทุกๆกรณีถ้ามีมาตรา 112



ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการชี้แจง ว่า กมธ.ชุดนี้ไม่ใช่พิจารณาแก้ไข หรือ ยกเลิก มาตรา 112 เพียงศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม แต่จะเป็นสารตั้งต้น เป็นหัวเชื้อ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล



หลังสมาชิกอภิปรายรายงานเสร็จสิ้น สมาชิกสภาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการโหวต เพราะมีความเห็นต่างกัน แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ วิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นทักท้วงว่า ในเมื่อสมาชิกยังมีความเห็นต่างอยู่มาก จึงควรให้กรรมาธิการได้ชี้แจงเนื้อหาในรายงานเพิ่มเติมด้วย และหากจะมีการลงมติก็ไม่มีปัญหา



ทำให้นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ แย้งว่า กรรมาธิการใช้เวลาชี้แจงยาวกว่าสมาชิกแล้ว เมื่อประธานปิดการอภิปรายแล้วก็ควรลงมติเลย ไม่เช่นนั้นหากให้ กรราธิการอภิปราย อาจจะใช้เวลานานกว่าสมาชิกถึง 3 เท่า สภาจะเดินต่อไม่ได้ หากสมาชิกต้องการอภิปรายอีก ประธานก็ต้องอนุญาตด้วย



นายพิเชษฐ์ จึงถามว่าจะให้ลงมติเลยหรือจะให้กรรมาธิการต่อ เพราะข้อมูลมีมากพอสมควรแล้ว แต่กรรมาธิการอีกหลายคนยังต้องการขอชี้แจง ดังนั้น วันนี้คงไม่จบ จากนั้นได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16.48 น. แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่นายพิเชษฐ์ไม่สนใจและเดินลงจากบัลลังก์ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News