สังคม
พิสูจน์โกดัง 'ดิไอคอน' หลังถูกตั้งข้อสังเกตสินค้าที่สั่งผลิตไม่สอดคล้องกับจำนวนขาย
โดย panisa_p
15 ต.ค. 2567
413 views
สามมิติยังตามต่อเรื่องสินค้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมามีสินค้าจำนวนมากเก็บอยู่ในโกดังจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่สต็อกลม ที่ไม่ได้มีสินค้าอยู่จริงตามที่โฆษณา
การเปรียบเทียบข้อมูลผลิตสินค้าจากบริษัทผู้รับจ้างทั้ง 6 ราย กับรายได้ของดิไอคอนกรุ๊ป ที่รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ได้ในเบื้องต้น
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่อาจทำให้กรณีนี้ไม่เป็นเพียงแค่คดีแชร์ลูกโซ่ตามที่ผู้เสียหายจำนวนมากร้องทุกข์ เพราะอาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน เพราะมีการประกาศโฆษณา แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง
นี่คือสินค้ารวม 15 รายการที่ตำรวจตรวจพบในโกดังเก็บสินค้าของบริษัทในเครือดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งเช่าพื้นที่คลังสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี สินค้าทั้งหมดแยกเป็นประเภทต่างๆ เช่นอาหารเสริม กาแฟ หรือคอลลาเจน ผลิตโดย oem หรือบริษัทผู้รับจ้างผลิตรวม 6 ราย คือ
1. บริษัท คิงคอฟฟี่ จำกัด
2. บริษัท เซน ไบโอเทค จำกัด
3. บริษัท ซีเอ็นเอ ไบโอเทค จำกัด
4. บริษัท เอสเอสพี ไบโอเทค จำกัด
5. บริษัท ห้างขายยาตราเจ็ดดาว จำกัด
6. บริษัท เซลล์ เนเจอร์ จำกัด
หลักฐานการผลิตและส่งมอบสินค้าจากทั้ง 6 บริษัท ที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่อาจใช้ตรวจสอบเบื้องต้น โดยเปรียบเทียบกับรายได้การขายสินค้าของดิไอคอนกรุ๊ป เพราะหากมีสินค้าเก็บไว้จำนวนมากจริง การสั่งผลิตและขายออกต้องใกล้เคียงกัน
ข่าว 3 มิติ พยายามติดต่อกับทั้ง 6 บริษัท เพื่อขอทราบข้อมูลส่วนนี้ แต่ทุกรายยืนยันตรงกันว่าส่งข้อมูลทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ สคบ. และ อย. ที่มาตรวจโรงงานตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
ข่าว 3 มิติ พยายามหาคำตอบเรื่องนี้ โดยใช้การเปรียบเทียบจำนวนสินค้าที่สั่งผลิตและขายไป โดยตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ยกตัวอย่างปี 2564 ที่ดิไอคอนกรุ๊ปมีรายได้มากที่สุดเกือบ 4,950 ล้านบาท แต่ทั้ง 6 บริษัทผู้ผลิตสินค้ามีรายได้รวมกันเพียง 2,313 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่หักรายได้ที่ผลิตสินค้าให้กับบริษัทอื่น
หรือหากอ้างว่ารายได้เกือบ 4,950 ล้านบาท คือตัวเลขที่บวกกำไรของสินค้าที่ขายแล้ว ก็อาจขัดแย้งกับจำนวนกำไรสุทธิที่ดิไอคอนกรุ๊ปแจ้งไว้คือ 813 ล้านบาท
ข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าจำนวนสินค้าที่สั่งผลิตกับจำนวนที่ขายออกไปอาจไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด โดยเฉพาะข้อมูลการผลิตสินค้าอย่างละเอียดที่ทั้ง 6 บริษัท ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบแล้ว และเป็นหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าดิไอคอนกรุ๊ปมีสินค้าจำนวนมากจริงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีหลักฐานคือภาษีซื้อขายที่ส่งให้กรมสรรพากรไปแล้ว
หลักฐานทางบัญชีของดิไอคอนกรุ๊ป ยังอาจตอบข้อสงสัยได้อีกหลายอย่าง เช่นรูปแบบการจ่ายเงินและการหักภาษี ทั้งดารานักแสดงและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเก็บเอกสารไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
รวมทั้งข้อมูลจากผู้สอบบัญชีในงบการเงินของบริษัทที่ต้องเห็นข้อมูลสำคัญทั้งหมด หากดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง