สังคม

กทธ.เร่งติดตั้งเครื่องวัดการเคลื่อนตัวของดินเพิ่ม ในเชียงราย เตือนภัยดินถล่ม หลังพบหลายพื้นที่เสี่ยงสูง

โดย panwilai_c

9 ต.ค. 2567

55 views

ความพยายามฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ยังมีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอุปสรรคสำคัญของการฟื้นฟูในเขตเศรษฐกิจอำเภอแม่สาย คือทรายและโคลน ที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาทับถม ล่าสุดอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ ทั้งในอำเภอแม่สาย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยสูงทั้งต่อปัญหาดินเลื่อนไถล ดินเลื่อนถล่ม พร้อมกับเร่งเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน เพื่อใช้เตือนภัยดินถล่มด้วย



ถึงแม้ระดับน้ำในแม่น้ำสายที่หลากท่วมย่านเศรษฐกิจการค้าของอำเภอแม่สาย จะลดลงไปนานหลายสัปดาห์ แต่ผลกระทบที่เหลือ แทบไม่ลดลง ตรงกันข้ามที่น้ำหลากได้พัดพาเอาดินโคลนมหาศาลเข้าทับถมในบ้านเรือนและตรอกซอกซอย ซึ่งไม่ง่ายที่จะขนย้ายดินโคลนหรือทรายเหล่านี้ออกไปได้



อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีวิทยา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนักธรณีวิทยา ซึ่งเข้าไปสำรวจลักษณะของดินโคลน หิน และทรายที่พบในพื้นที่ถูกน้ำท่วมในอำเภอแม่สาย ไม่ใช่ลักษณะของดินหรือหินที่พบในพื้นที่ แต่ถูกกระแสน้ำพัดพามาจากแหล่งอื่นที่อยู่ตอนบน ตามลำน้ำแม่สาย



การทรุดตัวของดินเชิงเขาฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็กของเมียนมา ซึ่งมองเห็นได้ชัดจากฝั่งไทย เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ถึงลักษณะของดินถล่ม คือ

1. มีดินหรือหินร่วงหล่น

2.มีการเคลื่อนตัวแบบ เลื่อนไถล คือมวลดินเลื่อนไปทั้งกระบิ หรือทั้งแนว

3. มีเคลื่อนตัวแบบเลื่อนถล่ม หรือทรุดหรือพังถล่มลง

4. การเคลื่อนตัวแบบน้ำพัดไหลหลาก



ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าอำเภอแม่สาย เผชิญวิกฤตรอบน้ำจากทั้ง 4 รูปแบบ ขณะเดียวกัน ในอำเภอแม่สาย ยังถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อปัญหาดินโคลนถล่มได้อีกในอนาคต



อำเภอแม่สาย เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี จะติดตั้งสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน เพื่อเฝ้าระวังภัยดินถล่ม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้เก็บตัวอย่างดิน หิน และทราย ในแม่น้ำสาย นำไปวิเคราะห์หาทั้งสิ่งปนเปื้อนและแร่ธาตุในดิน หากพบว่ามีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก ก็จะแจ้งเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือหากมีการปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ก็จะแจ้งเตือน



สถานีวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินนี้ชุดนี้ ติดตั้ง ตั้งแต่ปี 2558 ที่หมู่ 1 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง ใกล้กับวัดสันติคีรีญาณสังวราราม ซึ่งตำบลแม่สลองนอก เป็นชุมชนตั้งอยู่เชิงเขาดอยแม่สลอง หนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงต่อปัญหาดินถล่ม



สถานีวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน ใช้พลังงานจากโซลาเซลล์ และเก็บพลังงานโดยแบตเตอร์รี่ เพื่อให้เครื่องทำงานตลอดเวลาทั้งการเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์ส่งเข้าดาต้าล็อกเกอร์และส่งข้อมูลเข้าระบบที่กรมทรัพยากรธรณีโดยตรง



ซึ่งข้อมูลที่จะส่งเข้าดาต้าล็อกเกอร์ นอกจากเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนและความชื้นแล้ว ก็ยังมาจากเครื่องเซ็นเซอร์ หรือเครื่องตรวจวัด 2 ประเภท ที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 3 เมตร จากผิวนี้ //เซนเซอร์ที่จุดนี้ จะตรวจวัดแรงดันน้ำใต้ดิน และการเคลื่อนตัวของมวลดิน เมื่อนำไปวิเคราะห์กับปริมาณฝนสะสมแล้ว จะแปรเป็นข้อมูลเพื่อนำมาสู่การเตือนภัยได้



อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าด้วยเครื่องมือดังกล่าว ทำให้มีข้อมูลที่วิเคราะห์ความเสี่ยงได้มากขึ้น และจะเร่งเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ



ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีติดตั้งสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินแล้ว 25 สถานี ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ และเฉพาะจังหวัดเชียงราย ติดตั้งแล้ว 3 สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงอีก 11 สถานี ซึ่งรวมถึงที่อำเภอแม่สายด้วย



ที่ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง ยังพบหลายครอบครัวต้องอพยพออกจากบ้านเรือน และอบต.ประกาศห้ามใช้พื้นที่เพราะได้รับผลกระทบจากดินเลื่อนไถล ที่ใกล้จะเลื่อนถล่มชัดเจน ติดตามรายละเอียดวันพรุ่งนี้

คุณอาจสนใจ

Related News