สังคม
มท. สั่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำทุกจุด รับมือน้ำล้นลุ่มเจ้าพระยา - ครม.เคาะเยียวยาน้ำท่วม ครอบครัวละ 9,000 บาท
โดย panwilai_c
8 ต.ค. 2567
64 views
สถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาตอนนี้ น้ำได้หลากเข้าสู่ทุ่งรับน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนบนแล้ว และเริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยา โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประสานทุกภาคส่วนติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทันที ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ลดระดับลงก็ทำให้เกิดเหตุดินถล่มจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้วที่จังหวัดสุโขทัย
ที่จังหวัดสุโขทัย วันนี้ เกิดเหตุตลิ่งริมแม่น้ำยมทรุดตัวสไลด์ทับคน ที่หมู่ 4 ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน เสียชีวิต 1 คน และสูญหายอีก 1 คน โดย ร.ต.ท.สังข์ เชื้อผู้ดี สายตรวจตำบลคลองกระจง และกู้ภัยร่วมกตัญญู ได้เข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าภายหลังระดับน้ำแม่น้ำยมได้ลดลงทำให้ดินริมตลิ่งอ่อนตัว บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำจึงทรุด และสไลด์ตัวลงไปในแม่น้ำ ตอนนี้ยังตามหาผู้สูญหายอีก 1 คน คือ ด.ญ.ชุติมา กำทอง
ขณะที่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้มีมติปรับเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหม่ จากเดิมกำหนดเป็นกรอบ 5000 บาท 7000 บาท และ 9000 บาท เป็นให้สิทธิ์ได้รับเงินในเกณฑ์เดียวคือ ครอบครัวละ 9000 บาท ทั้ง 57 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยขอให้ประชาชนติดตามตรวจสอบ จากจังหวัดของตัวเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กรณีนี้ไม่รวมบ้านพังทั้งหลัง จำนวน 230,000 บาท ไม่รวมกับการบาดเจ็บล้มตาย และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย โดยขอให้ติดต่อกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สำหรับ ศปช. ส่วนกลาง และ ศปช. ส่วนหน้า ทางนายกฯ ได้ย้ำว่าต้องประชุมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมกับออกประกาศเตือนประชาชน ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย ส่วนภาพรวมสถานการณ์น้ำตอนนี้เขื่อนภูมิพล ยังสามารถรับน้ำได้ น้ำยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ก็ขอให้ประชาชนท้ายเขื่อนไปจนถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงอ่าวไทย ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันกับนายกฯ ว่า สถานการณ์น้ำจะไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน และเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ก็ระบายน้ำอยู่ที่ 2200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในระดับที่ยังควบคุมได้ ซึ่ง นายกฯ ได้สั่งการให้จัดการน้ำท้ายเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ ให้คำนวณการปล่อยน้ำให้เหมาะสม แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว แต่ก็ให้ติดตามอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 1 พฤศจิกายน แล้วประเมินกันอีกครั้ง
ด้านจิสด้าเผยภาพจากดาวเทียม THEOS-2 ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 แสดงให้เห็นถึงพื้นที่น้ำท่วมขังในทุ่งรับน้ำภาคกลางได้แก่ ทุ่งผักไห่ ทุ่งบ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนอกจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกน้ำท่วมขังแล้ว มวลน้ำยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่รอบๆ โดยเฉพาะที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เตรียมพร้อมทุกจุด เพื่อรับมือน้ำล้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เราได้ติดตามสถานการณ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ในส่วนเขื่อนบริเวณต่าง ๆ ได้มีการตรวจสอบ เพื่อทำการส่งสัญญาณเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ จะรู้กันดีว่าจะมีปริมาณน้ำสูงเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนเตรียมการเอาไว้ ทั้งการซ้อมอพยพ และการขนของหนี โดยภาครัฐจะมีการแจ้งเตือนอยู่แล้ว แต่บางครั้งเกิดเหตุการณ์ฝนตกโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ การเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ซึ่งขณะนี้สามารถแจ้งเตือนได้ทันที ได้ทุกช่องทางทั้ง SMS และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ก็จะได้รับสัญญาณเตือน