สังคม

ไม่ประมาท! กทม.เตรียมพร้อมอุปกรณ์ กระสอบทราย รับมือน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง

โดย panisa_p

7 ต.ค. 2567

41 views

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยความจุของน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ยังพร้อมรองรับน้ำได้อีกกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยความจุตอนนี้รวมกันอยู่ที่ ร้อยละ 79 ซึ่งก็มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ขณะที่กรุงเทพมหานครก็ไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ นอกคันกันน้ำอย่างน้อย 7 เขต



สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม วันนี้มีการระบายน้ำบริเวณประตูคลองระบายน้ำ DR 2.8 ในพื้นที่ หมู่ 8 และ หมู่ 9 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก หลัง ชลประทานพิษณุโลก ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ระมัดระวังน้ำท่วม น้ำหลากเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากน้ำในพื้นที่ จังหวัดสุโขทัยเริ่มลดลง จึงมีแนวโน้มที่วันพรุ่งนี้ ระดับน้ำจะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งที่ จังหวัดพิษณุโลก เบื้องต้นสำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ได้เพิ่มการระบายน้ำ จากแม่น้ำยม ลงสู่ แม่น้ำน่าน ผ่านคลอง DR-2.8 เพื่อลดปริมาณน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ทุ่งบางระกำโมเดลจนมากเกินไป เพราะตอนนี้มีน้ำในทุ่งเกิน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คืออยู่ที่ 138 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก



ล่าสุด จิสด้าเปิดเผยภาพจากดาวเทียมไทยโชต แสดงพื้นที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา หลังมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ทำให้น้ำในแม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ของ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร เส้นทางคมนาคม และที่อยู่อาศัย



นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยผลประชุมการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อการบริหาจัดการ โดย สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 19,650 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เป็น ร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,221 ล้าน ลูกบาศก์เมตร



ตอนนี้ทางกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากจากทางตอนบน ด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และแก้มลิงธรรมชาติ ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา โดยคาดการณ์ว่าในช่วง 1-7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



นอกจากนี้ยังควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น



ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,990 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็น ร้อยละ 70 ของความจุลำน้ำ จึงยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบ กับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง



ทางด้านกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแผนรับมือสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครให้สอดรับกับการแจ้งเตือนของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) และ กรมชลประทาน โดยจากการคาดการณ์ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงประมาณ 0.6-0.7 เมตร จากภาวะน้ำทะเลหนุน และ จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C29 บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,865 ลูกบาศก์เมตร/วินาที



ทางกรุงเทพมหานคร จึงได้ให้สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตที่อยู่ติดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ เตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น ให้ยกของขึ้นที่สูง รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ



จัดส่งกระสอบทรายให้ชุมชนชนตามแนวฟันหลอหรือจุดที่อาจจะมีแนวรั่วซึม พร้อมทั้งทำสะพานไม้ และแจกจ่ายยาสามัญที่จำเป็น โดยมีชุมชนนอกแนวกั้นน้ำ 16 ชุมชน ในเขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสานที่ต้องเฝ้าระวัง

คุณอาจสนใจ