สังคม

ไทยขยับขึ้น 2 อันดับ ยึดที่ 41 ของการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก

โดย parichat_p

29 ก.ย. 2567

77 views

ทุกๆ ปี จะมีการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index 2024 ขึ้น โดยประเทศไทยขยับขึ้นดีจากเดิม 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 41 ของโลก ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ" ก็ได้เปิดเผย


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024 ในแนวคิด "ปลดล๊อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม" จัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 ด้วยคะแนน 36.9 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้าจากเดิมอันดับ 43 โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 จากเดิมอันดับ 44 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 39 จากเดิมอันดับ 43 ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพ ของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมได้ ออกมามากกว่าปัจจัยนำเข้าที่ใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม


ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) ในทุกปัจจัย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง ระดับบนจำนวน 34 ประเทศ เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และประเทศมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33


นอกจากนี้เมื่อพิจารณาความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ก็พบว่า อันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้นในเกือบทุกปัจจัยจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ขยับดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 41 โดยตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับ การวิจัยและพัฒนาที่ลงทุน โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปี สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ ที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม ในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง



โดยจากนี้ NIA จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ส่งเสริมการพัฒนาด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านนโยบาย ภารกิจ และโครงการสำคัญของแต่ละหน่วยงานต่อไป

คุณอาจสนใจ