สังคม
อสส.สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหา คดีตากใบ ตร.เร่งติดตามตัวรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนหมดอายุความ
โดย panwilai_c
18 ก.ย. 2567
102 views
37 วันก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความ ครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม นี้ อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลำเลียงผู้ชมชนจากหน้าสภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ 78 ราย หลังคดีหยุดนิ่งไป 19 ปี ซึ่งเป็นหน้าที่ตำรวจต้องนำตัวทั้งหมดมายื่นฟ้องต่อศาลภายในอายุความ โดยจำเลยในคดีนี้ มีคนเดียวที่อยู่ในคดีเดียวกับที่ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ 7 คนในข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากเหตุสลายการชุมนุมด้วย
นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา 8 ราย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จากกรณีมีการลำเลียงผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ด้วยรถบรรทุกทหาร ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นคำสั่งฟ้องตามสำนวนที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่า คดีนี้อัยการได้เร่งไต่สวนพยานหลักฐานอย่างเร็วที่สุดภายในเวลา 5 เดือน หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งสำนวนมาถึงอัยการ จึงเป็นหน้าที่ทางตำรวจต้องตอบว่า ระหว่างนี้ 19 ปี ทำไมถึงไม่มีการสั่งฟ้อง โดยเปิดไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธปืนลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย ฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีประชาชนรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาค 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม เนื่องจากอยู่ในการประกาศกฎอัยการศึก จนเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น
ในระหว่างนั้น พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (ยศในขณะนั้น) ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุกจำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม หลังจากนั้นได้จับกุมผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุก ทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 ถึง 50 คน เพื่อออกเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในเวลา 19.00 น.เมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลา 21:00 น. เจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวลงจากรถบรรทุก ผลปรากฏว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน ซึ่งมี 6 คนที่มีผู้เสียชีวิต
จึงสั่งฟ้องพลขับ 6 ราย ประกอบด้วย ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส นายวิษณุ เลิศสงคราม ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสารนายปิติ ญาณแก้ว พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ และ พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ) เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ เป็นผู้ต้องหารายที่ 8
จากนั้น ในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่เสียชีวิตคือ ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
โดยหลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ รวมทั้งในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้กับอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็น และคำสั่ง ซึ่งระหว่างนี้ที่ไม่มีการดำเนินการใดๆผ่านไป 19 ปี
แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหา ทั้ง 8 รายมารับทราบข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้วจะแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรจแห่งชาติ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา นำตัวส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ซึ่งต้องทำให้ทันอายุความ 25 ตุลาคม 2567
นายประยุทธ ระบุว่า คดีนี้ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนั้น ถือเป็นคนละส่วนกับคดีที่ประชาชนฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จนนำไปสู่การออกหมายจับ และหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีรวม 7 คน โดยมีชื่อผู้ต้องหาเดียวกัน แต่ผู้ต้องหาในึคดีต่างกันเพียงแค่ 1 คน คือ พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร และไม่มี พลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ต้องหาอีก 5 คนที่ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ เมื่อวันที่ 12 กันยายน ก็มีเวลา 37 วันในการพิสูจน์ความยุติธรรม
แท็กที่เกี่ยวข้อง อัยการสูงสุด ,คดีตากใบ ,สั่งฟ้อง ,หมดอายุความ