สังคม
นักวิชาการ วิเคราะห์น้ำท่วมลุ่มน้ำโขงปีนี้ มีหลายปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โดย parichat_p
16 ก.ย. 2567
146 views
น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดหนองคายปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบมาจากแม่น้ำโขง ที่น้ำเหนือทั้งจากจีน จังหวัดเชียงรายของไทย และน้ำท่วมจากแม่น้ำสาขาใน สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำโขงสูงจนล้นตลิ่งเข้าทำท่วมหลายจังหวัดในภาคอีสานแล้ว
ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ประจำวันที่ 16 กันยายน เริ่มจากแม่น้ำโขงที่เขื่อนจิ่งหง ของจีน มีแนวโน้มลดลง มาเข้าประเทศไทย ที่อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับแม่น้ำโขงอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว มีแนวโน้มลดลงในวันพรุ่งนี้อีก 86 เซนติเมตรและมีแนวโน้มลดลงในอีก 1-5 วันข้างหน้าอีก 1 เมตร 30 เซนติเมตร ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะที่เขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ยังคงระบายน้ำอยู่ที่ 1 หมื่น 7 พัน ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งแม่น้ำโขงที่ผ่าน อำเภอเชียงคาย จ.เลยของไทย รับได้ที่ 1 หมื่น 9 พัน ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที
ซึ่งที่สถานีเชียงคาน มีน้ำไหลผ่านกว่า 2 หมื่น 1 พัน ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แต่แนวโน้มน้ำจะลดลงในวันพรุ่งนี้อีก 65 เซนติเมตร และแนวโต้ม 1-5 วันข้างหน้าจะลดลง 1 เมตร 77 เซนติเมตร ซึ่งน้ำจะเดินทางผ่านมาตามเส้นทาง โดยที่สถานีหนองคาย ซึ่งระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร 15 เซนติเมตร และน้ำไหลผ่าน กว่า 2 หมื่น 7 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์เตือนภัย และพรุ่งนี้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 18 เซนติเมตร อีกทั้ง 1-5 วันขข้างหน้าน้ำจะลดลงเพียง 31 เมตร ดังน้ันน้ำที่ท่วมในจังหวัดหนองคาย จะใช้เวลาลดลงช้ากว่าปกติ
ซึ่งแน่นอนว่าน้ำทั้งหมดจะไหลไปตามเส้นทางน้ำ ต้องแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำโขง ทั้งที่จังหวัดบึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งคาดการณ์ที่สถานีมุกดาหาร แนวโน้มอีก 1-5 วันข้างหน้าน้ำจะขึ้นอีก 44 เซนติเมตร และที่อำนาจเจริญพรุ่งนี้น้ำจะขึ้นอีก 60 เซนติเมตร ส่วนที่สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่น้ำจะอยู่ในเขตประเทศไทยก่อนจะเข้าลาวตอนใต้ และกัมพูชา ก่อนออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม
ในอีก 1-5 วันข้างหน้าที่อุบลราชธานี แม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้น 68 เซนติเมตร และต้องรับมวลน้ำโขงจากน้ำเหนือที่ยังมีน้ำมาก จึงต้องแจ้งเตือนและรับมือในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่วันนี้ อีก 5 วันข้างหน้า ช่วง 10- 20 กันยายนน้ำโขงก็จะเพิ่มข้นต่อเนื่อง
นักวิชาการลุ่มน้ำโขง วิเคราะห์เหตุปัจจัยน้ำท่วมในลุ่มน้ำโขง จากภาคเหนือถึงภาคอีสานของไทย ปีนี้ รุนแรงอาจน้อยกว่าปี 2509 ปี 2514 และปี 2551 ที่แม่น้ำโขงสูง แต่ปีนี้ มีหลายปัจจัย ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงส่งผลกระทบรุนแรง ทั้งการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม และฝนตกในลุ่มน้ำสาขาของไทยที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงฝนตกในลุ่มน้ำสาขาใน สปป.ลาว ในช่วงต้นเดือนกันยายน ทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขงสูงมากกว่า 1 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC มีการติดตามอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีการบูรณาการกันอย่างจริงจังระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขง บทเรียนน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องกล้าเป็นผู้นำในการขอหารือปัญหานี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง น้ำท่วม ,แม่น้ำโขง ,วิเคราะห์น้ำท่วมลุ่มน้ำโขงปีนี้ ,เกิดจากหลายปัจจัย