สังคม

ศูนย์ฯ มิตตาเย๊ะ ยันไม่ใช่ศูนย์การเรียนเถื่อน ยื่นขออนุญาตแล้ว แต่ยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์ ขออย่าสั่งปิด

โดย panisa_p

10 ก.ย. 2567

97 views

ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ สุราษฎร์ธานี ยืนยันไม่ใช่ศูนย์การเรียนเถื่อน ที่ผ่านมาได้ยื่นขอนุญาตแล้ว แต่ยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์ ขอหน่วยงานรัฐและคนไทยให้โอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชนลูกหลานแรงงานชาวเมียนมา โดยพร้อมจะปรับรูปแบบให้ตรงตามหลักเกณฑ์กระทรวงศึกษาของไทย



ธงชาติไทยยังคงชักธงอยู่บนยอดเสาของศูนย์การเรียนมิตตาะเย๊ะ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี แม้ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ครูใหญ่ชาวเมียนมา และผู้ให้เช่าสถานที่ซึ่งเป็นเจ้าของคนไทย ยืนยันว่าไม่เคยมีการนำธงชาติเมียนมามาติดตั้งในศูนย์การเรียน แม้จะมีคลิปเด็กร้องเพลงชาติเมียนมา ก็เป็นเพียงท่อนหนึ่งหลังจากให้เด็กร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะมีความสำนึกดีว่าเด็กเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย รักและเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเหมือนคนไทยทุกคน



ครูใหญ่ชาวเมียนมา ที่มาทำงานในไทยมา 11 ปี ยอมรับว่าความตั้งใจของเขาที่มาขอเช่าสถานที่ ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวะเดิมให้เด็กที่เป็นลูกแรงงานชาวเมียนมาได้เรียน เพราะก่อนหน้านี้ 3 ปีที่ผ่านมา พ่อแม่ชาวเมียนมา มาขอให้ครูใหญ่ที่เคยเป็นครูในประเทศเมียนมา สอนหนังสือให้ลูก จากเริ่มต้นแค่ 7 คน ต้องสอนอยู่ในสวนปลาม์ ก็มีเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน จึงพยายามหาเช่าสถานที่ จนมาเจอที่นี่จึงเริ่มนำเด็กมาเรียนตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2565 จากเดิม 170 คนเป็น 1,200 คน ภายใน 2 ปี ซึ่งเด็กเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ เพราะบางคนเพิ่งเขามาไทย ยังพูดไทยไม่ได้ และเหตุที่ให้ร้องเพลงชาติเมียนมา เพราะคิดว่าเด็กต้องรู้จักที่มาของชาติตัวเอง ไม่ได้คิดว่าจะเป็นภัยความมั่นคง ซึ่งพร้อมที่จะยกเลิกปรับรูปแบบให้ตรงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ หากได้รับโอกาสได้เปิดอีกครั้ง



ล่ามชาวเมียนมา บอกเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจของครูใหญ่ เพราะอยากให้เด็กได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่เป็นแรงงานรายได้ไม่มาก รวมถึงจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาทำให้พ่อแม่ต้องพาลูกมาทำงานด้วย ในช่วง 2-3 ปี นี้มีมากขึ้น เด็กส่วนใหญ่ยังพูดไทยไม่ได้ จึงเข้าโรงเรียนไทยไม่ได้ และมีข้อจำกัดหลายอย่าง การเปิดศูนย์การเรียนแบบนี้จึงเหมาะกับสภาพปัญหา และเป็นห่วงว่า หากถูกดำเนินคดี หรือเด็กไม่มีที่เรียน อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางสังคมตามมา และเด็กหลายคนอาจต้องถูกส่งกลับไปเมียนมาเผชิญกับอันตราย จึงอยากขอให้หน่วยงานรัฐไทยให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กๆ



เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าสถานที่เห็นว่า ทุกคนไม่มีเจตนาอื่นนอกจากให้เด็กได้รับการศึกษา จึงให้เช่าสถานที่ ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ปฏิบัติตามวัฒนธรรมไทย เพราะได้มาร่วมกิจกรรมในวันสำคัญเช่นวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันไหว้ครู ทุกเช้าเด็กจะทำกิจกรรมร้องเพลงชาติไทย เพลงสรรเสริญพระบารมี และสวดมนต์ นั่งสมาธิ ในโรงเรียนก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ ให้ความเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และตลอดเวลา อยู่ในสายตาของหน่วยงานราชการไทย ได้มีการยื่นขออนุญาตแล้วแต่ยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์ อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อขอใหม่ จึงขอความเป็นธรรมว่าไม่ใช่ศูนย์การเรียนเถื่อน



ขณะที่เด็กนักเรียนต่างเสียใจที่ไม้เรียน บางคนที่มาอยู่หลายปีแล้ว พูดภาษาไทยได้เพราะได้เรียนหนังสือ มีความฝันอยากเรียนเป็นหมอ จึงขอวิงวอนให้ประเทศไทยให้โอกาสให้ได้เรียนหนังสือด้วย



นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนวัดสมหวัง และไม่ต่ำกว่า 9 ศูนย์ในจ.สุราาฎร์ธานี มีเด็กชาวเมียนมา ประมาณ 3,000 คน ต้องหยุดเรียนไปด้วย จึงอยากให้รัฐหาแนวทางการแก้ไขปัญหา อย่างที่วัดสมหวัง ทางวัดเปิดให้ใช้สถานที่ในการเรียนเพราะมองว่าการให้การศึกษาคือสิ่งที่จะสร้างคนที่ดีและสังคมที่ดี



จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีศูนย์การเรียนที่เปิดให้การศึกษาเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานเมียนมา ประมาณ 63 ศูนย์ในหลายจังหวัด มีเด็กประมาณ 20,000 คน และที่อยู่นอกระบบคาดว่าไม่ต่ำกว่า 50,000 คน นอกเหนือจากกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลไทยต้องเร่งสำรวจเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กและสิทธิทางการศึกษาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหานี้อยู่แล้วเช่นในพื้นที่จังหวัดตาก สามารถนำมาเป็นแนวทางจัดการปัญหาได้

คุณอาจสนใจ