สังคม

วงการสื่อ จัดเสวนา 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล ถกหาทางออก ก่อนสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 72

โดย panwilai_c

28 ส.ค. 2567

132 views

ผ่านมา 10 ปี ของการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อคสู่ระบบดิจิทัล ที่จากเดิมมีเพียง 6 ช่อง เป็น 48 ช่อง ทำให้หลายคนมองว่าเป็นโอกาสเติบโตและเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ จนเกิดการประมูลคลื่นความถี่ที่เป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 50,000 ล้านบาท จากที่คาดการณ์ไว้ ราว 10,000 ล้านบาท



แต่จนถึงวันนี้กลับหลงเหลือผู้อยู่รอดในธุรกิจนี้เพียง 20 รายเท่านั้น แบ่งเป็นประเภทธุรกิจ 15 ช่อง และ ช่องสาธารณะ 5 ช่อง ท่ามกลางวิกฤตของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ และ ความไม่แน่นอนของใบอนุญาตที่ใกล้หมดอายุลงในปี 2572 หรือ อีก 5 ปีข้างหน้านี้



วันนี้กสทช.ได้ร่วมกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล จัดงาน 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล เพื่อระดมความคิดเห็นของคนในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อ ต่อทีวีดิจิทัลในฐานะโทรทัศน์แห่งชาติ ถึงทางออกในช่วงก่อนและหลังสิ้นสุดใบอนุญาตร่วมกัน



นี่เป็นความก้าวหน้าล่าสุดของทีวีดิจิทัลไทย ที่ผู้ประกอบการจากหลากหลายช่องได้ยกคอนเท้นต์มาจัดแสดงในงาน 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล ภายใต้แนวคิด beyond the next step โดย กสทช.ร่วมกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลประเทศไทย ซึ่งผ่านมา 10 ปี ของการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก สู่ระบบดิจิทัล ซึ่งหากนับเฉพาะประเภทช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง ตอนนี้เหลือเพียง 15 ช่องเท่านั้น รวมกับช่องสาธารณะอีก 5 ช่อง เป็น 20 ช่องที่ยังคงได้ไปต่อในอุตสาหกรรมนี้



นายสุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ประเทศไทย เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการจากนี้ นั่นคือ สัญญาใบอนุญาตประกอบกิจการใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิทัล ที่เหลือไม่ถึง 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนจากกสทช.ในการดำเนินการต่อจากนี้ เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเจอกับปัญหาความไม่พร้อมในการให้บริการออกอากาศในระบบดิจิทัล ส่งผลต่อการรับชมของคนดู และ ปัญหาระลอกใหม่หลัง กสทช. มีแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงระหว่าง 3300-3800 Mhz จากกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล เพื่อไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนดูมากถึงร้อยละ 70 ของประเทศหายไป ดังนั้นหากคลื่น 3500 MHz ถูกเรียกคืนจริง ก็จะส่งผลต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอย่างแน่นอน จึงเหมือนเป็นการซ้ำเติมความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่เผชิญกันมานับตั้งแต่ปีแรกที่การประมูลเสร็จสิ้น



นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์ ยอมรับว่า ในช่วง 4-5 ปีแรก นับตั้งแต่เริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัลในปี 2556 กลุ่มผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สัดส่วนคนดูทีวีลดลง จนหลายช่องต้องปิดตัวไปตั้งแต่ช่วงแรก แม้ทุกวันนี้จะสามารถปรับตัวได้แล้ว แต่ก็ต้องผลิตเนื้อหาที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในทุกช่องทาง โดยยืนยันว่าสุดท้ายช่องทางโทรทัศน์จะเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้คนดูสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมจากภาครัฐ ดังนั้นทีวีจึงเป็นสื่อที่ยังมีความสำคัญต่อสังคมในอนาคต



ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการต่ออายุหรือการประมูลใบอนุญาตสัมปทานที่จะหมดอายุลงในปี 2572 เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องพิจารณากระบวนการต่างๆ อย่างรอบคอบอีกครั้ง



10 ปีที่ผ่านมา มีคนทีวีจำนวนหลายพันคนได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง การค้างจ่ายค่าตอบแทน และอีกหลายรายที่ต้องเปลี่ยนอาชีพไป จากธุรกิจทีวีที่ปิดตัวลง หรือ ปรับขนาดองค์กร เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นความชัดเจนของธุรกิจทีวีดิจิทัลนับจากนี้ จึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ไทย รวมทั้งผู้ชมที่จะได้รับชมเนื้อหาข้อเท็จจริง จากสื่อสาธารณะได้อย่างหลากหลาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

คุณอาจสนใจ

Related News