สังคม

'ภูมิธรรม' ยันไม่ซ้ำรอยน้ำท่วม 54 เล็งรื้อแผนจัดการยุค 'ยิ่งลักษณ์' พิจารณาใหม่ ใช้งบ 6 ล้านล้าน

โดย nut_p

25 ส.ค. 2567

89 views

นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ยืนยันน้ำจะไม่ท่วมเท่าปี 2554 จากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังกักเก็บน้ำได้อีกมาก



การลงพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังสรุปสถานการณ์น้ำจาก Mobile war room คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ โดย นางรอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. รายงานสรุปสถานการณ์น้ำเปรียบเทียบ ระหว่างปี 2554 กับ ปี 2567 ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม ในปี 2554 ปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,237 มิลลิเมตร แต่ในปี 2567 รวม 868 มิลลิเมตร ภาคเหนือ ในปี 2554 มีฝนสะสม 1,271 มิลลิเมตร ส่วนปี 2567 มีเพียง 766 มิลลิเมตร



นอกจากนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 35 แห่ง ในปี 2554 มีรวม 51,624 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปี 2554 มีรวม 43,017 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปี 2554 มีน้ำ 20,049 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2567 มีน้ำรวม 12,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงยังเหลือน้ำที่กักเก็บได้อีกกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมเท่าปี 2554



ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ลดลงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเมือง เริ่มทำความสะอาดบ้าน ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งอยู่ แต่ถ้าไม่มีฝนตกหนักมาเติม คาดว่าอีก 1 - 2 วัน ระดับน้ำจะเข้าสู่สภาวะปกติ



ส่วนแม่น้ำยม ระดับน้ำที่ต้นน้ำ บริเวณจังหวัดพะเยาปัจจุบันกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และยอดน้ำได้เดินทางผ่านจังหวัดแพร่ส่งผลให้ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งในจังหวัดแพร่บริเวณอําเภอหนองม่วงไข่ อําเภอเมืองแพร่ และ อําเภอเด่นชัย ซึ่งมีแนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ยอดน้ำกําลังเคลื่อนผ่านอําเภอวังชิ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมกําลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นมวลน้ำที่จะไหลเข้าจังหวัดสุโขทัย ทําให้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และยังมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนระหว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันละน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน



นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้มีการรวบรวมข้อมูลน้ำเพื่อประเมินสถานการณ์ ทั้งจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติของสสน. ภาพดาวเทียมของจิสด้า สนทช.กรมชลประทาน และกรมอุตินิยมวิทยาเพื่อวางแผนจัดการน้ำให้แม่นยำ รวมทั้งจะนำแผนแม่บทจัดการน้ำสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาพิจารณาใหม่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5-6 ล้านล้านบาท และนำเข้าครม.ชุดใหม่ สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กำลังดำเนินการคาดว่าจะแถลงนโยบายเพื่อให้เริ่มทำงานได้ภายในกลางเดือนกันยายนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News