สังคม

เวทีสนทนา 'บุหรี่ไฟฟ้า' เผยพบเด็ก 13-15 ปี ติดเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนใหญ่นักเรียนหญิง ม.ต้น

โดย chawalwit_m

4 ส.ค. 2567

101 views

ทุกวันนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย และ มีกฎหมายควบคุม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย "อย่าปล่อยให้...ฆาตกรลอยนวล" เพื่อถกแนวทางแก้ไขปัญหาและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หลังพบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอายุน้อยลงอย่างน่ากังวล และ ยังขยายวงกว้างเข้าไปในกลุ่มเด็กและเยาวชน จนเกิดกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ตามมา



ที่สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยเปิดเผยบนเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย "อย่าปล่อยให้...ฆาตกรลอยนวล" จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งหากนับจากเจนเนอเรชั่นที่ 1 เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นบุหรี่ไฟฟ้าเจนเนอเรชั่นที่ 5 แล้ว



เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ความน่าเป็นห่วงของบุหรี่ไฟฟ้าตอนนี้ กำลังพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยไม่เลือกว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร ฐานะอะไร การศึกษาเป็นอย่างไร ซึ่งต่างจากในอดีตที่ปัญหาการติดบุหรี่ในวัยเรียนมักพบในเด็กกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น



โดยบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมักเลียนแบบสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ผู้ปกครองจึงไม่อาจทราบได้เลยว่า บุตรหลานของพวกเขากำลังพกบุหรี่ไฟฟ้าอยู่

ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2565 พบว่ามีเด็กอายุระหว่าง 13 - 15 ปี ในประเทศไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.6 โดยเกือบ 1 ใน 5 เป็นเด็ก ม.ต้น และ เพิ่มขึ้นในกลุ่มของเด็กผู้หญิง ขณะที่สถิติการจับกุมการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 2.7 หมื่นชิ้น ในปี 2563 เป็น 1 แสนชิ้นในปี 2567



ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกคำสั่งฯ ที่ 9/2567 ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรับปรุงกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจากปี 2558 ให้ทันต่อรูปแบบช่องทางเลี่ยงกฎหมายของผู้ค้าที่มักแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ในบุหรี่ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย โดยเพิ่มสาระสำคัญในเรื่องของการผลิตเพื่อจำหน่ายให้คลอบคลุมมากขึ้น คือห้ามจำหน่ายเป็นการถาวร ซึ่งรวมไปถึงบารากู่ และน้ำยาเติมด้วย



ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานบูรณาการฯ ออกปราบปราม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะ จึงต้องอาศัยอำนาจจากหลายฝ่าย ที่ถือกฎหมายคนละฉบับ เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน



ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ยืนยันว่า ไม่มีหน่วยงานใดสนับสนุนและยอมรับให้เกิดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากผลกระทบที่ตามมาทั้งในเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม



นางสาวประวีณมัย บ่ายคล้อย ในบทบาทสื่อมวลชน ก็สะท้อนว่า รูปแบบของสื่อในตอนนี้จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่อันตรายให้ผู้รับสารได้เท่าทันเฟคนิวส์ ซึ่งต้องอัพเดทข้อมูลเสมอเพื่อทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งไม่ให้เด็กและเยาวชนมองบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นเพื่อนแต่ให้มองว่าสิ่งนี้คือศัตรู



อย่างไรก็ตามเวทีนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาการ และกลุ่มเยาวชน โดยปัญหาหลักในตอนนี้ คือ กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทยยังถูกแยกส่วนอยู่ 4-5 ฉบับ ทำให้เกิดข้อจำกัดยากต่อการกำกับดูแลและบังคับใช้บทลงโทษ ดังนั้นสิ่งที่วงสนทนาในวันนี้คาดหวัง คือ มาตรการทางการบริหารที่เด็ดขาดจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก่อนจะมีแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News