สังคม

อนุกมธ.ปลาหมอคางดำ ถกฟ้องเอาผิด รัฐ-เอกชน ต้นตอระบาด

โดย panwilai_c

1 ส.ค. 2567

34 views

กรณีปลาหมอคางดำ วันที่รัฐสภา มีการประชุมทั้งกรรมาธิการชุดใหญ่ และอนุกรรมาธิการฯ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องนี้มาหารือ เเละนี่ถือเป็นครั้งเเรก ที่ผู้บริหาร CPF เข้าชี้เเจงต่อกรรมาธิการ"การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็นกรรมาธิการชุดใหญ่ เเต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังเเละบันทึกภาพ ส่วนชุดอนุกรรมาธิการฯ ที่มีนายเเพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน เช้าวันนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล พร้อมหารือเรื่องการฟ้องคดี โดยเฉพาะกับหน่วยงานรัฐที่ละเลย จนทำให้เกิดปัญหา



การประชุมอนุกรรมาธิการ ศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผล กระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เชิญหลายหน่วยงานเข้าร่วม เช่น อัยการสูงสุด / ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ / เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา / ผอ.กองกฎหมาย กรมประมง เป็นต้น ส่วนภาคประชาสังคม หลัก ๆ วันนี้ก็คือ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIO Thai ส่วนนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญด้วยเเต่ไม่ได้มา



นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล รองประธานอนุกรรมาธิการฯ บอกว่า ที่ต้องเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วม รวมถึงที่ปรึกษานายกฯ ก็เพราะประชาชนเตรียมที่จะฟ้องภาครัฐ จึงต้องเดินหน้าเพื่อหาต้นตอสาเหตุของเรื่องนี้ให้ได้ โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องกฎหมายทั้งหมด นายณัฐชา บอกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอย่างมหาศาล ไม่สามารถปฏิเสธได้



ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร เพราะเกษตรกรเปรียบเสมือนลูกค้า ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ต้องบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องนั่งหัวโต๊ะ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้



ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIO Thai ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ บอกว่า การที่กรมประมงพบปลาหมอคางดำในฟาร์มยี่สาร เมื่อปี 2560 เป็นการตอกย้ำ ถึงการเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด อีกทั้งยังมีงานวิจัย DNA ที่เชื่อมโยงกับ ฟาร์มยี่สาร ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ออกมายืนยันแล้ว



เลขา BIO Thai ยังเปิดเผยแผนที่ฟาร์มยี่สาร ปี 2560 โดยอ้างว่า ภายในฟาร์มพบบ่อเลี้ยงกุ้งและปลาหมอคางดำ ถูกเลี้ยงในบ่ออนุบาลและบ่อผสมพันธุ์ และทำการผสมพันธุ์ปลาหมอคางดำแบบไฮบริด คือ คือปลาหมอคางดำผสมปลานิล ปลาเก๋าหยก เเละปลาจาระเม็ดครีบสั้น ยืนยันว่าเป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดินและในกระชัง โดยมีบ่อพักน้ำติดกับคลอง 3 สาย เเม้ระบบน้ำในฟาร์มเป็นระบบปิด แต่หากน้ำในบ่อหายไปก็จะมีการดึงน้ำในคลองเข้ามาแทน ซึ่งปลาในระบบจะหลุดไปอยู่ในบ่อบำบัดคลองส่งน้ำ เมื่อมีการเคลียร์บ่อบำบัดน้ำ ก็จะสูบน้ำทิ้งนอกฟาร์ม เป็นจุดที่ทำให้ปลาหลุดออกไปสู่คลองธรรมชาติ



ส่วนประเด็นที่เอกชนจะฟ้องเอาผิดสื่อบางสำนัก และ BIO Thai นั้น นายวิฑูรย์ บอกว่า เป็นโอกาสดีที่หลักฐานทั้งหมดจะได้นำเข้าสู่ชั้นศาล จะชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางการระบาดของปลาหมอคางดำ มาจากบริเวณรอบฟาร์มยี่สาร



ส่วนเรื่องการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ บอกว่า จากการรับฟังฝ่ายกฎหมายและผู้เกี่ยวข้อง สามารถเอาผิดได้ 3ทาง คือ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีทางปกครอง ส่วนการเอาผิดทางอาญา นายเเพทย์วาโย ยอมรับว่า อาจจะยาก เพราะองค์ประกอบความผิดในกฎหมายเก่าและใหม่ ยากในการเอาผิด แต่สามารถเอาผิดทางแพ่งได้ ซึ่งสภาทนายความกับภาคประชาชนก็ได้ดำเนินการแล้ว



ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกรรมาธิการชุดใหญ่ ของอนุกรรมาธิการปลาหมอคางดำ ช่วงบ่ายวันนี้ ได้นำเรื่องปลาหมอคางดำมาหารือ และได้เชิญ CPF เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการชี้เเจงครั้งนี้มี นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF มาด้วยตัวเอง แต่ทางกรรมาธิการไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟังและถ่ายภาพ



นายประสิทธิ์ ใช้เวลาชี้แจงประมาณ 40 นาที เเละระหว่างที่เดินออกจากห้องกรรมาธิการ ผู้สื่อข่าวก็ตรงเข้ามาเเละเริ่มตั้งคำถามทันที โดยนายประสิทธิ์ บอกว่า การชี้แจงวันนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อมูลตามที่เคยแจ้งไว้ หลัก ๆ เป็นการแจงเรื่องมาตรการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ นายประสิทธิ์ ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจาก CPF ส่วนจะเกิดจากอะไรนั้น ก็คงต้องให้คณะกรรมาธิการ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องติดตาม



ส่วนความคืบหน้าการกำจัดปลาหมอคางดำ / นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมลงเรือกับเกษตรกรประมงคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ดูการจับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่ โดยภายในครึ่งวัน ได้ปลาหมอคางดำรวมน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม นายอรรถกร บอกว่า ขณะนี้มีพบการระบาดของปลาหมอคางคำ 17 จังหวัด มาตรการเร่งด่วนในช่วง 2 เดือนนี้ (สิงหาคม-กันยายน ) ต้องเร่งจับปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำให้มากที่สุด โดยจะเปิดรับซื้อในช่วง 1 เดือนนี้ก่อน แล้วค่อยปรับแนวทาง ตามปริมาณปลาหมอคางดำที่มีอยู่



เรื่องงบประมาณแก้ปัญหาที่ตั้งไว้ 450 ล้านบาท นายอรรถกร ชี้แจงว่า งบ 450 ล้านบาท เป็นเงินส่วนกลาง ที่กำลังทำเรื่องขออนุมัติ จากรัฐบาล ซึ่งตามแผนจะใช้สำหรับเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนการรับ ซื้อปลาหมอคังดำ 50 ล้านบาท ในขณะนี้ เป็นเงินของกองทุนการยางแห่งประเทศไทย ทั้ง 2 ส่วนเป็นเงินคนละก้อนกัน



ประเด็นการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติปลาหมอคางดำ ขั้นตอนทุกอย่าง กระทรวงเกษตรฯได้ทำครบถ้วนแล้ว ต้องรอกระทรวงอื่นร่วมพิจารณาว่า เข้าเกณฑ์หรือไม่



ส่วนที่สภาทนายความ เตรียมดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานที่อนุญาตหรือละเลย การปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งโดยใจความหมายถึงกรมประมง นายอรรถกร ได้ตอบเพียงสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องปกติที่สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการกฎหมาย

คุณอาจสนใจ

Related News