สังคม
สภาทนายความ จ่อฟ้องทั้งรัฐ-เอกชน ทำ 'ปลาหมอคางดำ' ระบาด ยันมีหลักฐานครบ
โดย panwilai_c
31 ก.ค. 2567
63 views
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ยืนยัน มีหลักฐานพร้อมยื่นฟ้อง บริษัทผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ เรียกค่าเสียหายให้กลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายประมง 17 จังหวัด หลังได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาด พร้อม ดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานภาครัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบมองภาครัฐยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นการออกมาตรการแก้เป็นหาแบบครั้งคราวเท่านั้น
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงผลการตรวจสอบปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานสำนักงานคดีปกครอง ภายหลังมีตัวแทน 17 เครือข่ายประมง ที่ได้รับผลกระทบมาขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและแนวทางการดำเนินคดีฟ้องร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการสภาทนายความฯ กล่าวว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้สามารถทำเป็นคดีแพ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1. การฟ้องหน่วยงานรัฐ ที่อนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำ โดยไม่มีการควบคุมและปล่อยปละละเลย จนเกิดการแพร่กระจายลงแหล่งน้ำ ซึ่งสร้างความเสียหายประเมินค่าไม่ได้
2. การฟ้องภาคเอกชน ที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบในการดำเนินคดี คือชนิดพันธุ์ปลา ที่พบแพร่ระบาดในแหล่งน้ำ ซึ่งพบว่าเป็นชนิดและสายพันธุ์เดียวกันกับ ที่ภาคเอกชนนำเข้ามา
ส่วนของหน่วยงานที่อนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีการละเลยการปฎิบัติหน้าที่ และมีหน้าที่ฟ้องร้องภาคเอกชน เพื่อเรียกค่าเสียหายที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับผลกระทบ และ เงินชดเชยที่รัฐจะต้องนำเงินงบประมาณมาใช้ในการแก้ปัญหา อย่างเช่นกรณีการเบิกงบ 450 ล้านบาท เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำ และงบประมาณส่วนอื่นๆ ที่ดำเนินการไปก่อนหน้า ซึ่งหลักฐานที่มีอยู่ สามารถใช้ประกอบให้ศาลวินิจฉัย ว่ากรณีนี้เข้าข่ายความผิดฐานปล่อยให้เกิดภัยพิบัติจากสัตว์น้ำต่างถิ่น ตามพรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 และกฎหมายอื่นๆ
ด้านนายปรเมษฐ์ แดนดงยิ่ง รองประธานกรรมการคดีปกครอง กล่าวถึง แนวการดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานภาครัฐ ว่าขณะนี้ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน เพื่อนำส่งให้ศาลพิจารณาว่า หน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบ ต่อการแพร่ระบาด ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พรบ.ประมง พรบ.สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ขณะที่ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ยืนยันว่า ทั้ง 2 คณะทำงาน ได้ข้อสรุป และมีหลักฐานเพียงพอ ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับ หน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน เพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ แต่ต้องใช้เวลา โดยจะยื่นฟ้องได้ไม่เกินวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ยืนยันว่าไม่รู้สึกกังวลหรือหวั่นไหวต่ออิทธิพล
นาย กสิธาดา คล้อยดี ตัวแทนเครือข่าย รักอ่าวไทยตอนบน และ กลุ่มชาวประมงจาก จ.เพชรบุรี ซึ่งมาฟังการแถลงด้วย ก็มองว่านี่ถือเป็นอีกแนวทางการช่วยเหลือทางกลุ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาล ยกระดับปัญหาแก้ปัญหาด้วยการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อให้แต่ละจังหวัดสามารถนำงบประมาณเข้ามาชดเชยเยียวยาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง สภาทนายความ ,ปลาหมอคางดำ ,ปลาหมอคางดำระบาด ,ปัญหาปลาหมอคางดำ ,ฟ้องแพ่ง