สังคม

อนุ กมธ. ถกแก้ปัญหา 'ปลาหมอคางดำ' เรียกร้องรบ.ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

โดย panwilai_c

25 ก.ค. 2567

53 views

การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำยังคงดำเนินไปในหลายมิติ ทั้งในพื้นที่ที่พบการระบาดและความพยายามหาต้นตอการระบาด โดยวันนี้ที่รัฐสภาสส.ฝ่ายค้าน เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ ประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเรื่องไปสอบสวนข้อเท็จจริงของการระบาด



ก่อนการประชุม คณะอนุกรรมาธิการการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า เดิมที วันนี้ ได้เชิญบริษัทซีพีเอฟ มาให้ข้อมูลชี้แจงข้อโต้แย้ง จากการประชุมครั้งก่อน แต่ปรากฎว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการฯได้รับหนังสือจากซีพีเอฟ แจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ให้เหตุผลว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ พร้อมมีเอกสารแนบ ซึ่งตรงกับกรมประมงส่งให้คณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นเพียงการชี้แจงว่าได้มีการส่งเอกสารให้กรมประมง แต่เอกสารกรมประมงมีรายละเอียดในบันทึกให้ดูทั้งในเรื่องของสมุดคุม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ทางคณะอนุกรรมาธิการฯจึงอยากให้ทางบริษัทเอกชนใช้พื้นที่คณะอนุกรรมาธิการฯมาสื่อสารไปยังประชาชน



ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้เสนอเรื่องนี้ไปยังที่ประชุมสภาให้เห็นชอบผ่านกฎหมาย พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก กรณีหากเกิดปัญหาหรือต้องการข้อมูลจากเอกชน ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการได้มีการขอข้อมูล แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ดังนั้นต้องสรุปตามข้อมูลที่มีอยู่ คือข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ โดยจะรวบรวมทั้งหมดที่มี และในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกา มาให้คำแนะนำกับหน่วยงานของรัฐและเชิญหน่วยงานที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป เพราะมูลค่าความเสียหายมหาศาล และปลาหมอคางดำได้ทำลายชีวิตเกษตรกรนับไม่ถ้วน




ในขณะที่การประชุมคณะอนุกรรมมาธิการฯ ที่มีนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. พรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่าบริษัทเอกชนทำหนังสือชี้แจงมาถึงสองครั้ง โดยมีข้อมูลใหม่ที่มีการเปิดชื่อ นักวิชาการ ในขณะนั้นเป็นนิติกร 7 คือนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบัน ในช่วงที่บริษัท เอกชนขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ ดังนั้นอธิบดีกรมประมงน่าจะทราบข้อมูลในขณะนั้น



ส่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดการสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเป็นญัตติของนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล เสนอญัตติว่า ขอเตือนรัฐบาล ที่พูดมาเสมอว่าเรื่องนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ชาวประมงสงสัย มีการไปให้คำสัญญาว่าจะใช้งบกลาง เพิ่มงบประมาณ แต่วันนี้ก็ยังไม่เห็น



นอกจากนี้ นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้พบการระบาดไปถึง 17 จังหวัดแล้ว ถ้าปล่อยต่อไป ไม่แน่ใจว่าจะถึง 70 จังหวัดหรือไม่ เพราะปลาหมอคางดำ กัดกินโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน กัดกินเกษตรกร และปลาพื้นถิ่น จึงขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อย่าทำแค่ให้เป็นอีเวนต์ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องประเมินผลด้วย รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน



ยืนยันว่า การรับซื้อไม่ใช่การเยียวยา เพราะการรับซื้อ คือแรงจูงใจให้ไปจับ แต่การเยียวยา คือการไปชดเชยสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบ



ส่วนนายศักดินัย นุ่มหนู สส. ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะ รองประธาน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการประชุม แนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของชาวประมง โดยมีผู้แทนอธิบดีกรมประมง ผู้แทนอธิบดีกรมการค้า ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และตัวแทนกรรมการประมงประจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมประชุม โดยคณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ ให้รัฐนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขับเคลื่อนและผลักดันให้ปัญหาการระบาด ของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติโดยเร็ว



และการกำจัดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ต้องมีแผนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาของการกำจัดและแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน พร้อมมีการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้หมดสิ้น โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ที่ขาดแคลนประมงกำจัดปลาหมอคางดำ



และกระทรวงเกษตรฯ ต้องประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อรับเป็นคดีพิเศษ และสืบหาข้อเท็จจริงเอาผิดและดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำโดยเร็ว

คุณอาจสนใจ

Related News