สังคม

กรมประมง เปิดหลักฐานครีบ 'ปลาหมอคางดำ' ปี 60 มีดีเอ็นเอชัด

โดย panisa_p

23 ก.ค. 2567

127 views

วันนี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ นำโดย นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ได้เดินทางไปที่กรมประมง เพื่อประชุมหารือและขอดูห้องเก็บตัวอย่าง DNA และ ห้องเก็บโหลดอง รวมถึง สมุดคุมที่เป็นประเด็น ทำให้ได้เห็น ตัวอย่าง ครีบปลาหมอคางดำที่เก็บจากบริษัทเอกชนที่นำเข้าแล้ว แต่เป็นตัวอย่างที่เก็บไว้ตั้งแต่ ปี 2560



กระบอกพลาสติกนี้ คือ ตัวอย่างครีบและเนื้อปลาหมอคางดำ ที่เก็บจากบ่อพักของบริษัทเอกชน ที่เป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ โดยตัวอย่างนี้ เก็บตั้งแต่ 2560 โดยห้องที่เก็บดูแลนี้ เรียกว่า "ธนาคาร DNA" อยู่ภายใน กรมประมง



นางสาวอภิรดี หันพงศ์กิตติกูล นักวิชาประมงชำนาญการพิเศษ ยืนยันว่า ครีบดังกล่าว มีการนำไปเทียบกับ DNA ของปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันแล้ว พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน โดยมีการสุ่มสำรวจทั้งหมด 5-6 จังหวัด ลักษณะทางพันธุกรรมที่แพร่ระบาดมีความคลายคลึงกัน



นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกมธ.พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยว่า ตอนนี้ มีตัวอย่างDNAปลาหมอคางดำ ปี 2560 และ ตัวอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่ขาดคือ ตัวอย่างปี 2553 และ 2554 หากมีครบ ก็จะตรวจสอบต้นตอได้ หลัง นพ.วาโย พูดจบ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พูดต่อทันทีว่า เขาไม่ทำ



นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้เข้าไปดูห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่ดองไว้เป็นตัวอย่างหลากหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์อื่นๆประมาณ 160 ชนิด กว่า 5,000 โหล รวมถึงมีโหลดองปลาหมอคางดำ ที่เก็บมาจากบ่อธรรมชาติในพื้นที่ จ.นครปฐม ซึ่งเก็บมาล่าสุดในเดือนกรกฎาคม2567 แต่ไม่ใช่โหลที่บริษัทเอกชน ระบุว่า เคยดองซากปลาหมอ 50 ตัว ส่งให้กรมประมง ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกรมประมง ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานการจัดส่ง และวันนี้ กรมประมง ยังได้ส่งมอบรายชื่อ 11 บริษัท ที่มีข้อมูลว่า ส่งออกปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2556-2559 กว่า 300,000 ตัว ให้กับอนุกรรมาธิการฯด้วย



ด้านนายบัญชา อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงได้ขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยงของบริษัทเอกชน ที่ตำบลยี่สาร เพื่อหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ และเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างครีบและชิ้นเนื้อของปลาหมอคางดำมาเก็บไว้ที่กรมประมง ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ตนเพิ่งได้รับทราบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการประชุมคณะอนุกรรมมาธิการ



อีกด้านหนึ่งวันนี้ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้แถลงข่าว โดยเชิญสื่อมวลชนเพียง 3-4 สำนัก โดยมีตัวแทนจาก 3 สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อประกาศร่วมกันแก้ไขสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ หลังการแถลงข่าว จึงได้ใช้วิธี ส่งคลิปการแถลงบาวส่วน พร้อม ส่งข้อมูลเนื้อหาการแถลงข่าว มายังสื่อต่างๆ เนื้อหาการแถลงได้ยืนยันว่า จะร่วมมือกัน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยร่วมกับกรมประมง รับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำไปทำปลาป่น พร้อมร่วมมือในการปล่อยปลานักล่า และพัฒนาอาหารที่สามารถใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบ

คุณอาจสนใจ

Related News